อจ. ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี
เมื่อมีการรับรู้อารมณ์ หรือที่เรียกว่าได้รับประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ตามปกติกระบวนความคิดก็จะแล่นต่อไปทันที ขั้นตอนนี้ก็จะเป็นการช่วงชิงบทบาทกันระหว่าง อวิชชาตัณหา และโยนิโสมนสิการ ถ้าอวิชชาตัณหาเข้ามาชิงเอาความคิดไปได้ก่อน กระบวนธรรมหรือความรู้ที่เกิดขึ้นก็จะมีความผิดพลาดหรือวิปลาสเกิดขึ้นมาได้ แต่ถ้าโยนิโสมนสิการเข้ามาสกัดอวิชชาตัณหา ความรู้ที่เกิดขึ้นจะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง และเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นหรือพ้นทุกข์ในที่สุด ดังนั้น เกณฑ์ในการตัดสินว่าความรู้ใดเป็นความรู้ที่ถูกต้องนั้นก็คือ โยนิโสมนสิการ และท่านได้แสดงวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ๑ไว้ดังนี้
๑. วิธี คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ พิจารณาปรากฏการณ์ที่เป็นผล ให้รู้จักสภาวะที่เป็นจริง หรือพิจารณาปัญหา หาหนทางแก้ไขด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา อาจเรียกว่า วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา หรือคิดตามหลัก ปฏิจจสมุปบาท
๒. วิธี คิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ หรือกระจายเนื้อหา และจัดหมวดหมู่ จัดประเภทได้ด้วยพร้อมกัน เป็นการคิดที่มุ่งให้มองและให้รู้จักสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมัน เพื่อให้เห็นความไม่มีแก่นสารหรือความไม่เป็นตัวตนที่แท้จริงของสิ่งทั้ง หลาย ว่าเป็นรูปธรรมและนามธรรม ทำให้หายยึดมั่นในสมมติบัญญัติ เช่น การพิจารณาการรวมกันเข้าของธาตุทั้ง ๔ เป็นมนุษย์ ดังพุทธพจน์
ท่านผู้มีอายุทั้ง หลาย ช่องว่าง อาศัยเครื่องไม้ เถารัด ดินฉาบ และหญ้ามุงล้อมเข้าย่อมถึงความนับว่าเรือน ฉันใด ช่องว่าง อาศัยกระดูก เอ็น เนื้อ และหนังแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า รูป ฉันนั้น…เวทนา…สัญญา…วิญญาณ…การคุมเข้า การประชุมกัน การประมวลเข้าด้วยกันแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ เป็นอย่างนี้๒
๓. วิธี คิดแบบสามัญลักษณ์ หรือ วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ การมองอย่างรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ ตามธรรมดาของมันเอง คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในฐานะที่มันเป็นสิ่งซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ปรุงแต่งขึ้น จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ดังพุทธพจน์ที่ว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมนสิการโดยแยบคาย(โยนิโสมนสิการ) ซึ่ง รูป และจงพิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งรูปตามความเป็นจริง…จงมนสิการโดยแยบคายซึ่ง เวทนาและจงพิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งเวทนาตามความเป็นจริง…จงมนสิการโดยแยบคาย ซึ่งสัญญาและจงพิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งสัญญาตามความเป็นจริง…จงมนสิการโดยแยบ คายซึ่งสังขารและจงพิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งสังขารตามความเป็นจริง…จงมนสิการ โดยแยบคายซึ่งวิญญาณ และจงพิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งวิญญาณตามความเป็นจริง…๓
๔. วิธีคิดแบบอริยสัจจ์ หรือ คิดแบบแก้ปัญหา มีลักษณะทั่วไป ๒ ประการ คือ
(๑) เป็นวิธีคิดตามเหตุและผล หรือเป็นไปตามเหตุและผล สืบสาวจากผลไปหาเหตุแล้วแก้ไข และทำการที่ต้นเหตุ
(๒) เป็น วิธีคิดที่ตรงจุดตรงเรื่อง มุ่งตรงต่อสิ่งที่จะต้องทำต้องปฏิบัติที่เกี่ยวข้องของชีวิต ใช้แก้ปัญหา ไม่ฟุ้งซ่านออกไปในเรื่องฟุ้งเฟ้อที่สักว่าคิดเพื่อสนองตัณหามานะทิฏฐิ ซึ่งไม่อาจนำมาใช้ปฏิบัติ ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังในพุทธพจน์ว่า
ภิกษุนั้นย่อมมนสิการโดยแยบคาย(โยนิโสมนสิการ) ว่า ทุกข์คือดังนี้; ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า เหตุเกิดแห่งทุกข์คือดังนี้; ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า ความดับแห่งทุกข์ คือดังนี้; ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับทุกข์คือดังนี้; เมื่อเธอมนสิการโดยแยบคายอยู่อย่างนี้ สังโยชน์ ๓ อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ย่อมถูกละเสียได้ ๔
๕. วิธี คิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ หรือ คิดตามหลักการและความมุ่งหมาย คือ พิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างหลักการกับจุดมุ่งหมาย เพราะในการปฏิบัติธรรมหรือกระทำการตามหลักการใด ๆ ก็ตาม จะต้องเข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของธรรมหรือหลักการนั้น ๆ ว่า ปฏิบัติหรือทำไปเพื่ออะไร กำหนดวางไว้เพื่ออะไร จะนำไปสู่ผลหรือที่หมายใดบ้าง ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องหลักการและความมุ่งหมายนี้ นำไปสู่การปฏิบัติถูกต้องที่เรียกว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ ดังพุทธพจน์ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเราแสดงไว้แล้ว เป็นอันมาก คือ สูตร เคยยะ ไวยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ, ถ้าแม้ภิกษุรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถาที่มี ๔ บาท แล้วเป็นผู้ปฏิบัติธรรมถูกหลัก (ธรรมานุธรรมปฏิบัติ) ก็ควรเรียกได้ว่าเป็นพหูสูต และเป็นผู้ทรงธรรม๕
๖. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก หรือพิจารณาให้เห็นครบทั้ง อัสสาทะ(ส่วนดี คุณค่า ข้อที่น่าพึงพอใจ) อาทีนวะ หรืออาทีนพ(ข้อเสีย โทษ ข้อบกพร่อง) นิสสรณะ(ทางออก ทางรอด ภาวะที่ปลอดหรือปราศจากปัญหา มีความสมบูรณ์ในตัวไม่ขึ้นต่อข้อดีข้อเสีย) เป็นการยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้น ๆ เป็นอยู่ทุกแง่ทุกด้าน ทั้งด้านดีด้านเสีย และเป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องกับการปฏิบัติมาก ดังพุทธพจน์ว่า
ภิกษุ ทั้งหลาย เราได้เที่ยวแสวงหาอัสสาทะของโลก อันใด อัสสาทะในโลกอันนั้นเราได้ประสบแล้ว อัสสาทะในโลกมีเท่าใด อัสสาทะนั้นเราได้เห็นเป็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา เราได้เที่ยวแสวงหาอาทีนวะของโลก อันใดเป็นอาทีนวะในโลก อันนั้นเราได้ประสบแล้ว อาทีนวะในโลกมีเท่าใด อาทีนวะนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา เราได้เที่ยวแสวงหานิสสรณะของโลก อันใดเป็นนิสสรณะในโลก อันนั้นเราได้ประสบแล้ว นิสสรณะในโลกมีเท่าใด นิสสรณะนั้นเราได้เห็นเป็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา๖
๗. วิธี คิดแบบคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม หรือ การพิจารณาเกี่ยวกับปฏิเสวนา คือ การใช้สอยหรือบริโภคปัจจัย ๔ และวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา เป็นขั้นฝึกหัดขัดเกลากิเลสหรือตัดทางไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจแล้วชัก จูงพฤติกรรมต่อ ๆ ไป โดยคุณค่าแท้นี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริงแล้ว ยังเกื้อกูลแก่ความเจริญงอกงามของกุศลธรรม เช่น ความมีสติ ด้วย ทำให้พ้นจากความเป็นทาสของวัตถุ เพราะเป็นการเกี่ยวข้องด้วยปัญญา และมีความพอเหมาะพอดี ซึ่งต่างจากคุณค่าแท้ ทำให้พอกพูนด้วยอกุศลธรรมต่าง ๆ เป็นไปเพื่อการแก่งแย่งบางครั้งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น ในบทพิจารณา “ปฏิสังขา โยนิโส…” เป็นต้น
๘. วิธี คิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม เรียกว่า วิธีคิดแบบเร้ากุศล หรือแบบกุศลภาวนาก็ได้ เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเทาและขัดเกลาตัณหา เป็นการทำใจที่ช่วยตั้งต้นและชักนำความคิดให้เดินไปในทางที่ดีงามและเป็น ประโยชน์ จัดว่าเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม และสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกิยะ วิธีการคิดแบบนี้ มีหลักการดังนี้ สิ่งที่ได้รับรู้อย่างเดียวกัน ผู้รับรู้ต่างกัน อาจมองเห็นและคิดนึกปรุงแต่งไปคนละอย่าง แล้วแต่แนวทางโครงสร้าง หรืออาการเดียวกัน คนหนึ่งมองเห็นแล้ว คิดปรุงแต่งไปในทางกุศล แต่อีกคนหนึ่งคิดปรุงแต่งไปในทางอกุศล
๙. วิธี คิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน หรือวิธีคิดแบบมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ เป็นการคิดในแนวทางของความรู้ หรือคิดด้วยอำนาจปัญญา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ตาม ต้องมีสติตามทันสิ่งที่รับรู้เกี่ยวข้อง หรือต้องทำอยู่ในเวลานั้น ทุก ๆ ขณะ ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีความสำคัญตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ดังพุทธพจน์ที่ว่า
ผู้ ถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ฉะนั้น ผิวพรรณจึงผ่องใสส่วนชนทั้งหลายผู้ยังอ่อนปัญญา เฝ้าแต่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และหวนละห้อยถึงความหลังอันล่วงแล้ว จึงซูบซีดหม่นหมอง เสมือนต้นอ้อสด ที่เขาถอนขึ้นทิ้งไว้ที่กลางแดด๗
๑๐. วิธี คิดแบบวิภัชชวาท เป็นการมองและแสดงความจริง โดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละด้านครบทุกด้าน ดังพุทธพจน์กล่าวว่าสารีบุตร แม้รูปที่รู้ได้ด้วยตา เราก็กล่าวเป็น ๒ อย่าง คือ ที่ควรเสพ ก็มี ที่ไม่ควรเสพ ก็มี คำที่ว่านี้เรากล่าว โดยอาศัยเหตุผลอะไร ? เมื่อเสพรูปที่รู้ได้ด้วยตาอย่างใด อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่งขึ้นกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมหาย, รปที่ รู้ได้ด้วยตาอย่างนี้ ไม่ควรเสพ เมื่อเสพรูปที่รู้ได้ด้วยตาอย่างใด อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมหาย กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่งขึ้น รูปที่รู้ได้ด้วยตาอย่างนี้ควรเสพ…สารีบุตร แม้เสียง…แม้กลิ่น…แม้รส…แม้สิ่งต้องกาย…แม้ธรรมที่รู้ได้ด้วยใจ เราก็กล่าวเป็น ๒ อย่าง คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี…”๘
เชิงอรรถรวม
๑ พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พุทธธรรม, หน้า ๕๕.
๒ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๖๗๕.
๓ ม.มู.(ไทย) ๑๒/๓๔๖/๓๕๘.
๔ สํ.ข.(ไทย) ๑๗/๑๐๔/๖๔.
๕ ม.มู.(ไทย) ๑๒/๑๒/๑๖
๖ องฺ.จตุกฺก.(ไทย) ๒๑/๑๘๖/๒๔๒.
๗ องฺ.ติก.๒๐/๕๔๕/๓๓๔.
๘ สํ.ส.(ไทย) ๑๕/๒๒/๗.