ถอดบทเรียนดอกทิวลิป!!! การปั่นราคาหน่อทิวลิปถึงต้นไม้ด่างเลอค่า
มูลค่าของสินค้าขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อผู้ขาย อย่างไรก็ตามหากสินค้าเป็นที่ต้องการอย่างมาก ราคาของสินค้าก็อาจจะทะยานสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนอย่างต้นไม้ด่างนานาพรรณเป็นต้น แต่ความต้องการดังกล่าวมาจากมูลค่าของสินค้าจริงๆ หรือมาจากการปั่นราคากันแน่ เรามาถอดตัวอย่างจากวิกฤติการณ์ตื่นทิวลิปครับ
ทิวลิป ดอกไม้ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
ดอกทิวลิปเป็นดอกไม้เมืองหนาวที่สวยงามเนื่องจากมีหลายสีสันมากมาย เช่น สีชมพู แดง ขาว โดยต้นทิวลิปมีถิ่นที่มาจากภูเขาเทียนชาน (Tian Shan) ซึ่งเป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ที่เอเชียกลางครอบคลุมหลายประเทศครับ ในเวลาต่อมาทิวลิปถูกนำเข้ามาเพาะปลูกเพื่อการเกษตรครั้งแรกในปี 1055 ที่กรุง Constantinople แห่งจักรวรรดิ Ottomans (ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี) และนำเข้าสู่ทวีปยุโรปและแพร่หลายเป็นอย่างมากในประเทศเนเธอร์แลนด์จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศในที่สุดครับ
การเพาะปลูกดอกทิวลิปเกิดได้แพร่หลายอย่างกว้างขวางเนื่องจากนายแพทย์ Charles de L'Écluse ได้ก่อตั้งสถาบันพฤกษศาสตร์แห่งไลเดน (Hortus Botanicus Leiden) ได้พัฒนาพันธ์ทิวลิปที่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิที่ที่ราบต่ำได้ ทำให้การปลูกทิวลิปสามารถปลูกได้อย่างกว้างขวางทั้งประเทศเนเธอร์แลนด์ครับ และต่อมาดอกทิวลิปกลายเป็นของมีค่าและราคาแพงเนื่องจากใช้ประดับบารมีและแสดงความมั่งคั่งของผู้คนครับ
ทิวลิปแตกสีและมูลค่าที่พุ่งกระฉูด
แม้ดอกทิวลิปจะมีสีสันสวยงาม แต่ดอกทิวลิปที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือทิวลิปแตกสี (Broken Tulip) ที่มีลวดลายแปลกตาเป็นลายเส้น ลายกลีบ หรือลวดลายอื่น (ในจุดนี้จะคล้ายๆ กับต้นที่มีใบด่างครับ) โดยการแตกสีดังกล่าวเกิดจากต้นทิวลิปที่ติดเชื้อไวรัส Mosaic Virus ครับ ซึ่งการขยายพันธ์และคัดพันธ์ดังกล่าวจะสามารถทำได้จากการแตกหน่อเท่านั้นทำให้การผลิตของทิวลิปแตกสีทำได้ช้ามากครับ
เมื่อความต้องการของทิวลิปแตกสีมีมากขึ้น พ่อค้าคนกลางที่เห็นโอกาสที่จะทำกำไรได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยการซื้อหน่อทิวลิปล่วงหน้า และทำให้ราคาของหน่อทิวลิปแตกสีกระโดดสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ครับ และเมื่อราคาสูงขึ้นจึงมีการซื้อขายสัญญาจองซื้อหน่อทิวลิปเป็นทอดๆ ไปด้วครับ นอกจากราคาดอกทิวลิปแตกสีแล้ว ราคาของดอกทิวลิปธรรมดาเองก็แพงตามไปด้วยครับ ว่ากันว่าในช่วงที่ผู้คนกำลังคลั่งดอกทิวลิปอย่างถึงที่สุด มูลค่าของหน่อทิวลิปหน่อเดียวสามารถแลกได้กับที่ดีขนาด 12 เอเคอร์ (30 ไร่) กันเลยทีเดียวครับ หรือบางครั้งอาจจะต้องแลกเปลี่ยนด้วยสินค้าทางการเกษตรและเครื่องไม้อย่างดีเป็นจำนวนมากครับ
งานเลี้ยงย่อมมีการเลิกลา เมื่อฟองสบู่แตก
การขายดอกทิวลิปในลักษณะเก็งกำไรแต่ความต้องการที่แท้จริงของดอกทิวลิปอาจจะไม่ได้สูงตามนั้นจะยังคงดำเนินต่อไปได้หากมีผู้เก็งกำไรเข้ามารับซื้อต่อกันไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อราคามันสูงเกิดจริงจนดูเหมือนจะไม่มีเหตุผล การซื้อขายก็หยุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 1637 เมื่อไม่มีใครบ้าพอจะเข้าซื้อดอกทิวลิปราคาเท่าบ้านอีกต่อไปครับ ประกอบกับเกิดภาวะโรคระบาดทั่วยุโรปทำให้เกิดปัญญาฟองสบู่ดอกทิวลิปแตกขึ้นครับ เพราะสุดท้ายนักเพาะทิวลิปก็ขายทิวลิปตามสัญญาเป็นทอดๆ และผู้ซื้อคนสุดท้ายได้แค่หน่อทิวลิปในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงหลายสิบเท่าครับ
เมื่อเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตกขึ้น ทางผู้ซื้อผู้ขายก็พยายามที่จะร้องขอให้ทางรัฐบาลเนเธอร์แลนช่วยเหลือ แม้จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาแต่ก็ช่วยเหลือไม่ได้มากนักเนื่องจากสัญญาหลายๆ อย่างเป็นสัญญาระหว่างบุคคลและศาลเองก็มองว่ามีความคล้ายคลึงกับการพนันทำให้กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้ครับ
เมื่อหันกลับมามองตลาดต้นไม้ด่างในปัจจุบัน อาจจะเริ่มเห็นการเสนอซื้อขายต้นไม่ด่างเป็นจำนวนมาก และราคาค่อยๆ ทะยานสูงขึ้นไปเรื่อยๆ บางครั้งถึงกับมีการขโมยต้นไม้ด่างกันครับ ในเบื้องต้นตลาดมีการตอบรับราคาไม้ด่างด้วยเหตุผลอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามเมื่อราคาของต้นไม้เริ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทางผู้ซื้อจำเป็นต้องทำความเข้าใจของมูลค่าและแนวโน้มของตลาดที่กำลังเกิดขึ้นครับ ในที่นี้ต้องบอกว่าทางผู้ซื้อที่ไม่ได้เก็งกำไรควรจับตาดูมูลค่าที่แท้จริงของต้นไม้ด่าง (True Value) และมูลค่าทางตลาด (Market Value) ที่เริ่มมีความต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ
อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการเก็งกำไรเกิดขึ้นจะทำให้มูลค่าตลาดไม่ได้อ้างอิงจากมูลค่าที่แท้จริง ดังนั้นผู้เล่นไม้ด่างอาจลองศึกษาภาวะฟองสบู่แตกของดอกทิวลิปและเทียบกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้เพื่อความปลอดภัยของตนเองให้มากที่สุดครับ