ฟาโรห์หญิง “Hatshepsut” กับรักลับๆ ของราชินีมีเคราแห่งแผ่นดินอียิปต์
เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับอียิปต์ยุคโบราณที่มีมากว่า 3,000 ปี ในหน้าประวัติศาสตร์ไอยคุปต์แห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ จากราชินิอย่างน้อย 5 พระองค์ แต่ฟาโรห์หญิงที่ฝากผลงานเอาไว้บนผืนแผ่นดินอียิปต์มากที่สุด พร้อมกับเรื่องราว "อื้อฉาว" ก็คงจะหนีไม่พ้นฟาโรห์หญิงนามว่า "ฮัตเชปซุต" (Hatshepsut) ท่านนี้เป็นแน่แท้
ทำไมถึงเรียก "ราชินีมีเครา" เป็นสตรีข้ามเพศหรือ ?
พระนางเป็นสตรีจริงๆเพียงแต่ทั่วโลกจะรู้จักพระนางดี จากการที่พระนางแต่งองค์ทรงเครื่องเยี่ยงบุรุษฟาโรห์นั่นเอง จึงมีการขนานนามว่า "ราชินีมีเครา" โดยพระนางจะสวม "เคราปลอม" อยู่ที่คางของพระนางด้วยเสมอๆ หลังจากแต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นฟาโรห์ เพื่อจะสำเร็จราชการร่วมกับเจ้าชายองค์น้อยไปก่อน และการสวมเคราปลอมก็เพื่อสื่อถึงความเป็นกษัตริย์ ซึ่งหลักฐานก็จะมีทั้งภาพสลักและบนผนังวิหารนั้นเอง และผลงานด้านพระกรณียกิจนั้นก็ถือว่าโดดเด่นไม่แพ้ฟาโรห์ชายซะด้วยซิ
งั้นเรามาย้อนดูประวัติของฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุตกัน
พระนางประสูติเมื่อ 1507 ปีก่อน ค.ศ. สวรรคตเมื่อ 1458 ปีก่อน ค.ศ. (อายุประมาณ 49-50 พรรษา) เมื่อย้อนกลับไปในช่วงสมัยราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) เมื่อประมาณ 1,470 ปีก่อนคริสตกาล ในรัชสมัยของ "ฟาโรห์ทุธโมซิสที่ 2" (Tuthmosis II) ที่ขึ้นครองบัลลังก์ โดยพระนางฮัตเชปซุตคือ "มเหสีเอก" แต่ยังมีมเหสีองค์รองอีก 1 พระองค์ก็คือ "ราชินีไอซิส"
พระบิดาของพระนางฯ คือ "ฟาโรห์ทุธโมสที่ 1" (Tuthmose I) พระมารดาคือ "อาเมส" (Aahmes) พระนางไม่มีพระโอรสที่จะขึ้นมาครองบัลลังก์ได้ มีเพียงแค่พระธิดาองค์เดียวก็คือ "เนเฟอรูเร" (Princess Neferure) แต่ฟ้าสวรรค์กลับเป็นใจให้กับมเหสีองค์รองไอซิสแทน เพราะได้ให้กำเนิดพระโอรสตามปรารถนา ซึ่งในอนาคตก็จะขึ้นครองบัลลังก์เป็น "ฟาโรห์ ทุธโมซิสที่ 3" (Tuthmosis III) ในฐานะฟาโรห์ยอดนักรบนั้นเอง
แต่ฟาโรห์ทุธโมซิสที่ 2 นั้นสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ครองราชบัลลังก์ได้แค่ 3-4 ปีก็ผลัดแผ่นดิน ผู้ที่จะขึ้นครองบัลลังก์ก็คือเจ้าชายทุธโมซิสที่ 3 แต่ทว่าเจ้าชายก็ยังเด็กเกินกว่าจะขึ้นว่าราชการได้ด้วยตัวเอง
พระนางฮัตเชปซุตจึงต้องเข้ามาสำเร็จราชการร่วมกับเจ้าชายองค์น้อยแทนไปก่อน พอในปีที่ 7 ของการครองราชย์ร่วมกัน พระนางก็แต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นฟาโรห์หญิง โดยแต่งองค์ทรงเครื่องเยี่ยงบุรุษฟาโรห์ดังที่กล่าวมาข้างต้น
เรื่องฉาวหลังจากได้เป็นฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุต
โดยบุรุษที่ตกเป็นข่าวฉาวก็คือขุนนางคนสำคัญที่เป็นสถาปนิกชื่อว่า "เซนมุต" (Senmut) ทำหน้าที่หลากหลายในราชสำนักของพระนางฯ ซึ่งในความสนิทที่มากกว่าปกตินี่เอง ทำให้นักวิชาการอียิปต์มองว่า เซนมุตคนนี้อาจจะเป็น "ชู้รักลับๆ" ของพระนางฯก็เป็นได้
แล้วเซนมุตคือใครมาจากไหน ?
เขาเป็นคนที่เกิดจากครอบครัวชนชั้นกลางที่มีพื้นเพอยู่ที่เมืองอาร์มันต์ (Armant) ทางตอนใต้ของเมืองธีบส์ (Thebes) หรือลักซอร์ในปัจจุบัน มีพ่อชื่อ "ราโมส" (Ramose) แม่ชื่อ "ฮัตเนเฟอร์" (Hatnefer) เป็นครอบครัวที่มีฐานะระดับหนึ่งแต่ไม่ถึงกับร่ำรวยอะไร แต่ก็ได้ผลักดันให้เซนมุตได้ศึกษาเล่าเรียนจนสามารถอ่านออกเขียนได้ จึงได้ก้าวขึ้นทำงานในตำแหน่งระดับสูงของพระราชสำนักฟาโรห์ในเวลาต่อมา
และหลักฐานที่คิดว่า..แล้วทำไม ? เซนมุตนั้นสำคัญต่อฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุต
1. สุสานของแม่ (ฮัตเนเฟอร์) ที่สร้างทีหลังสุสานของพ่อกลับโอ่อ่าแบบผิดหูผิดตา ซึ่งเป็นไปได้ว่าสุสานของแม่นั้นถูกสร้างหลังจากที่เขาได้เป็นคนสำคัญของฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุตเรียบร้อยแล้ว ทำให้เขามีทรัพย์สินและสมบัติมากมายจนสามารถสร้างสุสานให้แม่ได้ขนาดใหญ่ แถมมีเครื่องใช้ราคาแพงใส่ไว้ในสุสานของแม่เขาด้วย
2. จริงๆเขาเริ่มต้นจากสายทหาร แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นสายบริหารบ้านเมืองแทนในรัชสมัยของฟาโรห์ทุธโมซิสที่ 2 เขาจึงโดดเด่นมากกว่าคนอื่นๆ จึงสามารถขึ้นสู้ตำแหน่งระดับสูงได้อย่างรวดเร็ว
3. ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดและแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุตอย่างเด่นชัดคือ "ตำแหน่งผู้ดูแลธิดาแห่งกษัตริย์" คือได้ดูแลเจ้าหญิงเนเฟอรูเร (บุตรสาวของฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุต) นั้นเอง
4. เขาปรากฎตามภาพแกะสลักบ่อยครั้งร่วมสิบชิ้น แถมเป็น "ครูพิเศษ" ส่วนตัวของเจ้าหญิงเนเฟอรูเร กับมีรูปแกะสลักอุ้มเจ้าหญิงเอาไว้ในท่วงท่าที่แตกต่างกัน นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่พิเศษ เพราะถ้าไม่ใช่คนพิเศษสนิทชิดเชื้อขนาดนี้จะได้ใกล้ชิดเจ้าหญิงเนเฟอรูเรเป็นกรณีพิเศษได้ไง
5. ได้ดำรงตำแหน่ง "หัวหน้าสถาปนิกโครงการ" ที่ควบคุมการออกแบบวิหารประกอบพิธีศพของฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุต โดยเป็นวิหารที่มีระเบียงสามระดับชั้นเชื่อมต่อกันด้วยเนินทางลาด ในปัจจุบันรู้จักกันดีในชื่อ "วิหารเดียร์ เอล-บาฮารีย์" (Deir el-Bahari) อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำไนล์ในเมืองลักซอร์
6. ไม่เคยค้นพบหลักฐานว่าเขามี "ภรรยา" มาก่อน แต่ภาพสลักส่วนใหญ่มักแสดงภาพของเขาเคียงคู่กับบุคคลในครอบครัว แต่ไม่มีภาพภรรยาของเขาเลยสักภาพเดียว นั่นเป็นไปได้ว่าเขาครองตัวเป็นโสด หรือเขาอาจจะมี "ภรรยาลับ" ที่เขาไม่สามารถจะเปิดเผยตัวตนภรรยาได้
7. อีกหลักฐานคือจะเห็นรูปสลักของเขาอยู่ใกล้กับฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุต ปรากฎอยู่ในพื้นที่ต่างๆของวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งไม่เคยมีสามัญชนคนไหนหรือขุนนางคนไหนที่จะได้รับสิทธิพิเศษได้มากขนาดนี้มาก่อน เพราะในสมัยนั้นการได้ปรากฎภาพและชื่อของตนเองในพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของวิหาร นั่นถือว่ามี "ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" แต่สำหรับเขากลับได้รับการยกเว้น และอนุญาตให้เขาได้มีส่วนร่วมในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของวิหารได้
8. กับหลักฐานสุดท้ายคือภาพร่างที่ปรากฎบนผนังสุสานในเมืองธีบส์ เป็นภาพบุรุษกับสตรีที่สวมมงกุฎเนเมส ซึ่งเป็นมงกุฎของฟาโรห์กำลังแสดงท่วงท่า "ร่วมเพศ" แม้จะไม่มีชื่อจารึกไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นใครก็ตาม ซึ่งเป็นภาพที่วาดขึ้นในสมัยของฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุตด้วย
ดังนั้นอาจจะสรุปแบบชัดเจนไม่ได้ แต่ก็มีหลักฐานหลายข้อที่เอ่ยมาทำให้อดคิดไม่ได้จริงๆ ว่าฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุตนั้นมีรักลับๆ กับขุนนางเซนมุตจริงหรือไม่ ? แต่นักวิชาการทางอียิปต์วิทยาก็อดคิดไปไกลไม่ได้ ถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งเช่นนี้ หรือมันจะเป็น "ความรักลับๆ" ที่ต่างฝ่ายก็ต่างแอบซ่อนอยู่ภายในใจกัน เพื่อให้มันยังคงเป็นความรักลับๆ ของพระนางฮัตเชปซุตเช่นนี้ต่อไป
ขอบคุณภาพและเนื้อหา : กูลเกิล, วิกิพีเดียร์