เจาะลึกพิธีกรรมทำ ”มัมมี่" ของชาวอียิปต์โบราณ
ในสมัยอียิปต์โบราณเมื่อมีคนตายก็จะนำศพไปฝังไว้ในทะเลทรายอันร้อนระอุ ความร้อนและความแห้งแล้งจะทำให้ร่างกายแห้งอย่างรวดเร็ว โดยที่แบคทีเรียไม่มีโอกาสได้ย่อยสลายศพเสียก่อน จึงกลายเป็นมัมมี่ไปตามธรรมชาติ แม้ว่าการทำมัมมี่จะมีอยู่ทั่วโลก และไม่ได้แค่เกิดขึ้นในดินแดนลุ่มแม่น้ำไนล์ แต่ชาวไอยคุปต์กลับเป็นชาติที่มีการพัฒนามัมมี่ตลอดเกือบ 3,000 ปีมาแล้ว จากยุครุ่งเรืองในการทำมัมมี่ จนสู่ช่วงสุดท้ายก่อนปิดฉากมัมมี่ไป
ยุคของการทำมัมมี่
"อียิปต์" นั้นไม่ใช่เป็นชาติแรกที่ทำมัมมี่ แต่การทำมัมมี่มีอยู่ในวัฒนธรรมตามความเชื่อ "โลกหลังความตาย" ของหลายๆดินแดนต่างๆ ไม่ว่าจะวัฒนธรรมของชาวประมงโบราณริมชายฝั่งเปรูและชิลีที่มีการทำมัมมี่มาราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล รวมทั้งโคลัมเบีย เอกวาดอร์ หรือแม้แต่พวกอินเดียแดงบนแผ่นดินอเมริการบางเผ่า แต่ที่รุ่งเรืองที่สุดคงจะเป็นของ "ดินแดนอินคา"
โดยชาวอียิปต์โบราณมีการพัฒนาและความเชี่ยวชาญในขั้นตอนทำมัมมี่มาโดยตลอด จนมาถึงปี ค.ศ. 640 การทำมัมมี่จึงสิ้นสุดลงพร้อมกับการล่มสลายของอาณาจักรอียิปต์ หลังจากถูกชาวอาหรับเข้ามายึดครอง
ซึ่งช่วง 1,000-950 ปีก่อนคริสตกาล ถือเป็นช่วงพัฒนาการสูงสุดของเทคนิคและวิทยาการมัมมี่ ตรงกับยุคที่หัวหน้า "นักบวชแห่งอามุน" (Amun ราชาแห่งเทพเจ้า) นั้นมีอำนาจมาก และยังเป็นยุคสมัยเดียวกับที่ฝั่งอิสราเอลกำลังรุ่งเรืองซึ่งตรงกับ "สมัยกษัตริย์โซโลมอน" และ "กษัตริย์เดวิด" (ในคัมภีรย์ไบเบิล)
มัมมี่ถือเป็นการบ่งชี้ของความรุ่งเรืองทางการแพทย์
นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกชื่อ "เฮโรโดตุส" ได้กล่าวว่าขั้นตอนการทำมัมมี่ใช้เวลาทั้งหมด 70 วัน โดยมีการทำมัมมี่อยู่ 3 แบบ และ 3 ราคาแตกต่างกันออกไป
มัมมี่แบบที่ 1 คือ แบบราคาแพงที่สุดจะใช้เทคนิคดูดเอาสมองคนตายออกจากทางรูจมูก และใช้มีดที่ทำจากหินเหล็กไฟ กรีดข้างลำตัวเพื่อควักเอาอวัยวะภายนออกมา เหลือเพียงก้อนเนื้อ "หัวใจ" แล้วก็ชำระช่องท้องให้สะอาดด้วยเหล้าไวน์ที่หมักจากปาล์ม แล้วนำร่างไปตากแห้ง และมัมมี่ที่ดีจะมีวัสดุพวกขี้เลื่อย โคลน และผ้าลินินยัดเข้าไปแทนอวัยวะภายในที่ถูกดูดออกเป็นการทำมัมมี่ที่ละเอียดและประณีต รวมถึงขั้นกรีดผิวหนังเป็นร่องเล็กๆและยัดวัสดุดังกล่าวเข้าไปใต้ผิวหนังด้วย
มัมมี่แบบที่ 2 คือ แบบราคาย่อมเยาจะไม่มีการควักเอาอวัยวะภายในออก แต่ใช้น้ำมันสนซีดาร์ฉีดเข้าไปในร่างศพก่อนนำจึงไปตากแห้ง
มัมมี่แบบที่ 3 คือ แบบราคาถูกที่สุดก็แค่นำร่างศพไปตากให้แห้งเท่านั้น
เผยสูตรต้นตำรับโบราณ
สูตรแรกๆในการทำน้ำยาอาบศพนั้นมีส่วนประกอบดังนี้
• น้ำมัน ที่ทำมาจากพืช เช่น "น้ำมันงา"
• สารสกัดคล้าย "ขี้ผึ้ง" ที่เรียกว่า "Balsam" ซึ่งได้มาจากต้นหรือรากของพืชบางชนิด คือ "ต้นกกธูปหรือธูปฤาษี" (Cattail)
• ยางไม้ ที่รับประทานได้มีคุณสมบัติเป็นน้ำตาลตามธรรมชาติ เป็นยางไม้ที่สกัดจาก "ต้นอะคาเซีย" (Acacia)
• ยางสน เป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดโดยนำไปผสมกับน้ำมันและส่วนประกอบอื่นๆ จนทำให้น้ำยามีคุณสมบัติในฆ่าเชื้อแบคทีเรียป้องกันไม่ให้ศพเน่าเปื่อย
Cattail-2909476_1280 (Credit By pixabay Free)
Acacia-164409_1280 (Credit by Pixabay Free)
ก่อนการนำศพไปตากแห้ง
จะมีการโรยสาร "เนตรอน" (Natron) เป็นสารประกอบประเภท "เกลือจากธรรมชาติ" เปรียบได้กับสารกันบูดของชาวอียิปต์โบราณเป็นตัวช่วยดูดน้ำ ไขมัน และมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจจะมีการหมักร่างผู้ตายไว้ใต้สารเนตรอน ไม่ใช่แค่โรยสารเนตรอนลงไปบนร่างเฉยๆ พอโรยหรือหมักแล้วก็นำศพไปทาน้ำมัน ตกแต่งและเข้าสู่ขั้นตอนการพันผ้าห่อร่างศพ แล้วนำไปตากแห้งเป็นระยะเวลาราว 40 วัน
ผ้าพันร่างมัมมี่
จะใช้ความยาว 100 เมตร ขนาดความยาวของผ้าต่อมัมมี่ 1 ร่าง ผ้าที่ได้รับความนิยมคือ "ผ้าลินิน" นำไปชุบน้ำยางเหนียวเรซิน เพื่อให้การห่อผ้านั้นแนบชิดสนิทติดกับร่างศพอย่างเรียบแน่น ผ้าพันศพชั้นนอกสุดจะเป็นการชโลมด้วยขี้ผึ้งและใช้วุ้นหรือพวกเจลาตินเป็นตัวยึดผ้าให้ติดกันอย่างแนบสนิทอีกครั้ง
ผ้าลินินมักจะซื้อมาจากวิหารเทพเจ้า เพราะตามความเชื่อถือเป็น "ผ้าศักดิ์สิทธิ์" ช่วยปกป้องคุ้มครองให้ร่างศพนั้นได้หลับใหลอย่างสงบ ปราศจากสิ่งชั่วร้ายมารบกวน และขั้นตอนสำคัญคือการนับจำนวนรอบของการพันผ้าด้วย
เลข 7 ถือเป็นเลขมงคลในการพันมัมมี่
ตามความเชื่อของชาวอียิปต์เลข 7 ถือเป็นเลขมงคล ดังนั้นมัมมี่ 1 ร่างต้องนับให้ได้ 7 รอบ และแต่ละรอบจะต้องวางเครื่องรางเล็กๆ แนบไว้กับร่างด้วย และต้องมีการเขียนจารึกที่ขอบผ้าพันศพ เหมือนเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ โดยระบุ 2 สิ่งที่สำคัญคือ ระบุเจ้าของผ้าเป็นของผู้ตาย และระบุแหล่งที่มาของผ้าผืนนั้นไว้ที่ขอบผ้าพันศพชั้นนอกสุด หลังจากเสร็จสิ้นการพันผ้า 7 รอบแล้ว
Ancient Egyptian linen, Late Period (By Wikimedia Commons)
โถเก็บอวัยวะภายใน
เรียกว่า "โถคาโนปิก" (Canopic) ส่วนอวัยวะภายในที่สำคัญของผู้ตาย ได้แก่ ตับ ลำไส้ ปอด และกระเพาะอาหาร จะต้องถูกห่อรวมกันไว้และเก็บรักษาไว้พร้อมร่าง (ยกเว้นหัวใจอยู่กับร่างไม่ควักออกมา) ในยุคแรกๆ อวัยวะจะถูกห่อผสมกับพวกขี้เลื่อย โคลน และผ้าลินิน
แล้วค่อยยัดกลับเข้าไปในร่างที่ตากแห้งแล้ว แต่ในบางยุคก็มีการนำเอาอวัยวะภายในเหล่านี้ใส่ในโถ โดยโถ 1 ชุดมี 4 ใบ ส่วนใหญ่วัสดุมักเป็นหิน แล้วแยกอวัยวะทั้ง 4 ไว้ภายในโถแต่ละใบและวางไว้ข้างศพมัมมี่ในหลุมฝังศพ
Canopic-jars-765073_480 (Photo Credit By pixabay Free)
หน้ากากมัมมี่ หีบและโลง
"หน้ากากมัมมี่" เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เพื่อปกปิดส่วนใบหน้า และหน้าอกของร่างมัมมี่ที่ถูกพันผ้าเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหน้ากากส่วนใหญ่ทำมาจากผ้าลินินพอกด้วย "ปูนปลาสเตอร์" ปิดทองและตามด้วยการฝังวัสดุประดับประดา ตามแต่ฐานะของผู้ตาย โดยมีการวาดตาและคิ้วให้สวยงามให้ประหนึ่งว่าร่างนั้นกำลังแค่นอนหลับอย่างสงบ
"หีบหรือโลงศพ" จะแบ่งตามลำดับของชนชั้นเช่นกัน ศพที่มีฐานะดีจะใช้หีบหรือโลงซ้อนกันหลายชั้น แต่ถ้าเป็นของชาวบ้านทั่วๆไปโลงนั้นจะเป็นไม้รูปทรง 4 เหลี่ยมผืนผ้า และแกะสลักฝาโลงเป็นรูปร่างของผู้ตาย หีบบรรจุโลงชั้นนอกสุดจะใช้วัสดุเป็นหิน และอย่างที่รู้กันว่ามัมมี่คือการรักษาร่าง ดังนั้นบนโลงศพจึงต้องมีการจารึกคาถาปกป้อง "ดวงวิญญาณ" ขณะเดินทางสู่ปรโลกเพื่อรอการฟื้นคืนชีพจากโลกหลังความตาย
แต่มีเพียงโลงศพที่ทำให้โลกต้องตื่นตะลึงที่สุดก็คือ
โลงศพชั้นในของมัมมี่ "ฟาโรห์ตุตันคาเมน" (Tutankhamun) ที่ทำจากทองคำแท้ และเมื่อเปิดโลงออกมาก็พบว่าหน้ากากของฟาโรห์องค์นี้ก็ทำมาจากทองคำแท้เช่นกัน อย่างที่เรามักคุ้นตากันถึงความยิ่งใหญ่ของฟาโรห์องค์นี้
Tutankhamun-6112236_1280 (Photo Credit by pixabay Free)
และนี่ก็คือเรื่องราวของการทำ "มัมมี่" ของชาวอียิปต์โบราณ และขั้นตอนในการทำมัมมี่เพื่อเก็บรักษาร่าง
ของผู้ตายเอาไว้ เพื่อรอการฟื้นคืนชีพจากโลกหลังความตายนั้นเอง
ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก : กูลเกิล, วิกิมีเดียร์
เครดิตภาพฟรีจาก : pixabay