"The Valley of the Kings" เจาะลึก "หุบเขาแห่งกษัตริย์ฟาโรห์"
กระทู้นี้ก็สำหรับใครที่ยังชื่นชอบความลี้ลับของอียิปต์อยู่ ซึ่งจะกล่าวถึง "The Valley of the Kings" อารยธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์เมื่อ 3000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์โบราณกลุ่มหนึ่งได้เริ่มต้นตั้งถิ่นฐานดินแดนฝั่งแม่น้ำ ด้วยการเพาะปลูกเก็บเกี่ยว กับการบูชาเทพเจ้าเพื่อให้พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์
จุดเริ่มต้นมาจากใคร ?
เริ่มจากฟาโรห์องค์แรกคือพระนามว่า "นาร์เมอร์" (Narmer) ทรงกรีฑาทัพมาตีอียิปต์ล่างเพื่อร่วมให้เป็นหนึ่งเดียว และสถาปนาราชวงศ์ที่ 1 (บ้างก็ว่าราชวงศ์ที่ 0) แห่งอียิปต์โบราณขึ้นมา ประวัติศาสตร์แห่งดินแดนไอยคุปต์ก็เข้าสู่ยุคที่นักอียิปต์วิทยาให้ชื่อว่า "ยุคเริ่มราชวงศ์" (Early Dynastic Period) ซึ่งมีกษัตริย์หรือที่พวกเราเรียกกันว่า “ฟาโรห์” ปกครองดูแลบ้านเมืองสืบทอดต่อกันมาเป็นระยะเวลาอีกกว่า 3000 ปี
Narmer Egypt King (By Wikimedia Commons)
เดิมทีการฝังที่ "พีระมิด" อันยิ่งใหญ่นั่นคือ "อาณาจักรเก่า" (Old Kingdom)
ถ้าดูตามลำดับราชวงศ์ของฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณ สุสานของฟาโรห์ในราชวงศ์แรกๆรวมทั้งฟาโรห์แห่ง "ราชอาณาจักรเก่า" (Old Kingdom) เดิมจะฝังร่างของพระองค์ไว้ใต้กองหินอันยิ่งใหญ่ หรือที่เราเรียกกันว่า “พีระมิด” ต่อมาการสร้างพีระมิดฝังศพของฟาโรห์เดิมนั้น ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากพีระมิดที่มีความยิ่งใหญ่ตระการตาที่เราคุ้นตากันก็เป็นการเจาะลึกเข้าไปในภูเขาเข้ามาแทนที่
(Old Kingdom) Pyramids-5995636_1280 (Credit by GuetigGroup Pixabay Free)
Cairo,_Gizeh,_Sphinx_and_Pyramid_of_Khufu,_Egypt,_Oct_2004
(By Wikimedia Commons)
จากพีระมิดก็กลายมาเป็นการฝังศพตามหุบเขาคือเป็น (The Vally of Kings)
โดยใช้วิธีการเจาะลึกเข้าไปในภูเขาเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพแทนพีระมิด ซึ่งเรียกว่า “สุสานสกัดหน้าผา” เป็นที่ฝังศพโดยการเจาะหินหรือดินที่เป็นอุโมงค์ลึกลงไปในส่วนของภูเขา โดยศพที่ฝังส่วนใหญ่เป็นพระศพของ "ฟาโรห์" การฝังศพใต้ดินแบบนี้จึงเรียกกันว่า "ฮิโปเจียม" (Hypogeum) และบริเวณที่ฝังศพนี้จึงถูกเรียกว่า “หุบเขาของกษัตริย์ (Vally of Kings)” เนื่องจากใช้เป็นที่ฝังศพของฟาโรห์และเชื้อพระวงศ์ต่างๆ ในยุคราชวงศ์ใหม่ของอียิปต์โบราณ (ราชวงศ์ที่ 18-20)
Hypogeum (By Wikimedia Commons)
หุบเขากษัตริย์ตั้งอยู่ที่ไหน ?
ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ของ "เมืองลักซอร์" (Luxor) ในปัจจุบัน ในอดีตเมืองนี้มีชื่อว่า "เมืองธีปส์" (Thebes) ชื่อที่พวกกรีกโบราณเรียกเมืองที่เคยเป็นนครหลวงทางศาสนา และจิตวิญญาณของอียิปต์โบราณในยุคราชอาณาจักรใหม่ เป็นสถานที่ที่รายล้อมไปด้วยทะเลทรายอันร้อนระอุ หุบเขาที่ซับซ้อนทำให้เหมาะสำหรับการสร้างสุสานเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกทำลายและการโจรกรรม
Egypt Luxor-3088061_1280 (Credit by Makalu Pixabay Free)
จำนวนหลุมศพมีมากแค่ไหน ?
"หุบเขากษัตริย์" แห่งนี้นักโบราณคดีขุดพบหลุมศพมากถึง 63 แห่ง ลึกลงไปในหลุมศพยังแบ่งออกเป็นห้องเล็กๆ บางสุสานมีห้องที่ซับซ้อนเป็นอย่างมาก แถมยังมีการสร้างหลุมพรางเพื่อป้องกันพวกโจรที่จะมาขโมยทรัพย์สมบัติภายในสุสาน ในบรรดาสุสานทั้งหมดมีห้องมากที่สุดถึง 120 ห้อง
ซึ่งของ "ฟาโรห์รามเซสที่ 2" (Ramses ll) (อยู่สุสาน KV 7) ตอนที่นักโบราณคดีค้นพบสุสานแห่งนี้ ภายในก็เหลือเพียงร่างอันไร้วิญญาณของรามเซสที่ 2 เท่านั้น ส่วนทรัพย์สมบัติอื่นๆไม่มีเหลือไว้แล้ว บางสุสานที่ค้นพบจะเหลือเพียงรูปปั้นขนาดเล็ก ซึ่งแทบทุกสุสานของฟาโรห์จะต้องมี เพื่อเป็นตัวแทนของข้าทาสที่จะตามไปรับใช้ฟาโรห์ในโลกหน้า
บางสุสาน "ร่างมัมมี่" ก็ถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย และนอกจากจะถูกทำลายโดยมนุษย์แล้ว ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มาทำลายสุสาน ซึ่งทำให้ยากมากขึ้นในการปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ เมื่อมีการขุดค้นพบสุสานขึ้น เพื่อให้ง่ายในการจดจำนักโบราณคดีจะทำการตั้งชื่อสุสานว่า KV และตามด้วยลำดับในการขุดค้นพบ เช่น KV1, KV2, ไล่ไปเรื่อยๆ เป็นต้น
KV 7_Ramses 2 Mummy_(By Wikimedia Commons)
KV 7_Ramesses 2 (By Wikimedia Commons)
พบสุสาน "ฟาโรห์ตุตันคามุน" อย่างสมบูรณ์
เพราะสำหรับนักโบราณคดีแล้วหุบเขาแห่งนี้ถือว่าเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะหลังจากมีการขุดค้นพบสุสานไปแล้วมากมาย จนหลายๆคนคิดว่าคงไม่มีสุสานเหลือให้ค้นพบอีกแล้ว ก็มีข่าวโด่งดังไปทั่วโลกอีกครั้งช่วงที่มีการค้นพบสุสานของ "ฟาโรห์ตุตันคามุน" (Tutankhamun) (อยู่สุสาน KV 62)
ซึ่งถือเป็นสุสานที่มีความสมบูรณ์แบบมากๆ ทรัพย์สมบัติทุกชิ้นของพระองค์ยังคงวางอยู่ที่เดิม เป็นสุสานที่รอดพ้นจากสายตาโจรขโมยมาได้เป็นพันๆปีอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆที่สุสานของพระองค์ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากมาย และสมบัติเกือบทุกชิ้นทำขึ้นจากทองคำแท้ๆ
King-tutankhaman (By Wikimedia Commons)
ใครที่ค้นพบสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน
ก็คือ "โฮเวิร์ด คาร์เตอร์" (Howard Carter) ได้พบประตูทางเข้าสุสานของตุตันคามุนในหุบเขากษัตริย์ โดยบังเอิญเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1922 จากนั้นเขาก็แจ้งให้ท่าน "ลอร์ด คาร์นาร์วอน" (Lord Carnarvon) ซึ่งเขาเป็นขุนนางอังกฤษ และผู้เป็นสปอนเซอร์ในการขุดค้นที่นี่มานานประมาณ 8 ปีให้ทราบ เพื่อให้คาร์นาร์วอนรีบเดินทางมาโดยด่วน
โดย "โฮเวิร์ด คาร์เตอร์" ได้ทำการเปิดสุสานในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1922 ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของการค้นพบที่เป็นข่าวตื่นเต้นไปทั่วโลก หลังจากนั้นคำร่ำลือของ “คำสาปฟาโรห์” ก็ตามมา
ที่มาของ "คำสาปมัมมี่"
ในปีแรกของการขุดพบเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “คำสาปมัมมี่” โดย “ลอร์ด คาร์นาร์วอน” (Lord Carnarvon) ได้เสียชีวิตกะทันหัน หนังสือพิมพ์ทั่วโลกรายงานข่าวว่าการตายของเขา เกิดขึ้นเพราะไปลบหลู่สุสานของ "ฟาโรห์ตุตันคามุน"
รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขุดครั้งนั้นก็เสียชีวิตอย่างปริศนา ในช่วงที่มีการขนเอาข้าวของต่างๆในสุสานออกมาก็มีคำเล่าขานเกี่ยวกับคำสาปของฟาโรห์มากมาย อาทิ เช่น งูเห่าตัวหนึ่งได้เลื้อยเข้าไปในกรงนกที่ โฮเวิร์ด คาร์เตอร์เลี้ยงไว้แล้วก็กินนกตัวนั้นเสีย
ซึ่ง "งูเห่า" ถือเป็นเทพเจ้าแห่งการปกปักษ์รักษาฟาโรห์ของอียิปต์โบราณมีชื่อเรียกว่า "เทพยูเรอุส" (Uraeus)
Uraeus_MET_LC-50_198_3_EGDP026984 (By Wikimedia Commons)
คนแรกที่เสียชีวิตและถูกคำสาปคือใคร ?
คนแรกที่ถูกกล่าวขานว่าถูก "คำสาปของฟาโรห์ตุตันคามุน" จนตายก็คือ "ลอร์ด คาร์นาร์วอน" เพราะหลังจากเขาเปิดสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุนแล้วก็เดินทางกลับกรุงไคโร จนวันหนึ่งเขาถูกยุงกัดที่ใบหน้าด้านซ้ายและมีอาการไข้ขึ้นสูง ในตอนเช้าเขาก็โกนหนวดปกติแต่มีดโกนไปสะกิดโดนแผลที่ยุงกัดเข้า มันเลยบวมและเป็นตุ่มขึ้นมาเขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน ปี ค.ศ. 1923 (อายุ 56 ปี)
หรือประมาณ 4 เดือน 7 วันหลังจากที่เขาได้เข้าไปในสุสานของตุตันคามุน จนมีคนพยายามโยงเรื่องการตายของเขาว่าเป็นผลจาก "คำสาปของฟาโรห์" เพราะเขาก็เป็นคนแรกๆที่เข้าไปในสุสานดังกล่าว
อย่างไรก็ตามก็มีคำอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมาว่าการตายของเขานั้น มันเป็นผลมาจากการ "ติดเชื้อ" อันเนื่องมาจากแผลของการโกนหนวด และลามต่อไปจนกระทั่งเกิดการติดเชื้อเข้ากระแสโลหิตและทำให้โลหิตเป็นพิษดังกล่าว
แต่กระแสร่ำลือของ "คำสาปฟาโรห์" นั้นไม่หยุดแต่เพียงแค่นั้น เพราะถือเป็น "เรื่องลึกลับ" ที่ยังคงนำมาทำเป็นภาพยนตร์ต่างๆ มากมาย จึงทำให้ตำนานคำสาปของฟาโรห์นั้นจึงเป็นที่โจษขาน และดูน่ากลัวยิ่งขึ้นไปอีกจนถึงทุกวันนี้นั้นเอง
ขอบคุณภาพเนื้อหาต่างๆจาก : กูลเกิล, วิกิพีเดียร์
ภาพสวยฟรีจาก : Pixabay