การฌาปณกิจศพด้วยน้ำ (Aquamation) ทางเลือกใหม่ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
26 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา โลกได้สูญเสีย ‘เดสมอนด์ ตูตู’ (Desmond Tutu) ผู้ซึ่งเป็นทั้งบาทหลวง เป็นทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์เกี่ยวกับการต่อสู้การแบ่งแยกสีผิวชาวแอฟริกาใต้ และเป็นทั้งเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1984 ไปอย่างไม่มีวันกลับ
เดสมอนด์ ตูตู ได้อุทิศตนทำงานสิ่งแวดล้อมตลอด ช่วงชีวิตของเขา เป็นเวลายาวนาน และคำสั่งเสียสุดท้ายที่เขาทิ้งคือ ให้จัดการพิธีศพของเขาแบบไร้มลพิษ เพื่อให้สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ใช้วิธีการเผากำจัดร่าง แต่ใช้วิธีการที่เรียกว่า ‘อะควาเมชัน’ (Aquamation)
อะควาเมชัน (Aquamation) หรือเรียกว่า การฌาปณกิจแบบชีวภาพ (Biocremation) เป็นวิธีกำจัดศพที่ใช้ของเหลวแทนที่การใช้ไฟ อาจจะดูแปลกใหม่สำหรับหลาย ๆ คน แต่ก็ไม่ได้ใหม่เอี่ยมขนาดเพิ่งคิดค้น มีมาสักพักแล้วและที่แน่ ๆ คือ มันเป็นวิธีที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก ณ เวลานี้
ซึ่งอะควาเมชั่นถูกพัฒนาโดยบริษัท ‘อะควาเมชัน อินดัสตรีส์’ (Aquamation Industries) ประเทศออสเตรเลีย และได้จดสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี 1888 ถือว่านานพอสมควรเลยแหละ แรกเริ่มเดิมที วิธีนี้ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะกำจัดซากสัตว์ทดลองในคลินิกและห้องปฏิบัติการ ซากสัตว์ที่ติดโรค และใช้ในโรงเรียนแพทย์ของสหรัฐอเมริกาเพื่อกำจัดร่างอาจารย์ใหญ่เท่านั้น ต่อมาก็ได้เริ่มประยุกต์ใช้กำจัดร่างผู้เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา
หลักการของการทำการฌาปณกิจด้วยน้ำนี้ จะใช้กระบวนการที่เรียกว่า อัลคาไลน์ ไฮโดรไลซิส (Alkaline Hydrolysis) โดยนำร่างผู้เสียชีวิตใส่ในเครื่องซึ่งเป็นแทงค์สุญญากาศ ภายในบรรจุของเหลว 2 ชนิดคือน้ำและสารโปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ (Potassium Hydroxide) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง จากนั้นแทงค์สุญญากาศจะค่อย ๆ ถูกทำให้ร้อน 90 – 150 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง เกิดกระบวนการ hydrolysis หรือกระบวนการที่น้ำเข้าไปสลายโมเลกุลต่าง ๆ ให้เล็กลง จะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ย่อยสลายไปหมดเหลือแต่กระดูก ซึ่งนำไปบดจะกลายเป็นผงสีขาว ซึ่งต่างจากการใช้ไฟเผา ที่จะเหลืแกระดูกและเถ้าถ่านสีเทาจำนวนมาก
ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ ประหยัดพื้นที่ในการสร้างที่ฝังศพ ประหยัดไฟมากกว่าการใช้เตาเผา ไม่เกิดเขม่าควันต่าง ๆ เช่น ฝุ่น PM 2.5 สารปรอท ซึ่งเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมเลย และยังช่วยลดแก๊สเรือนกระจก ได้มากถึง 35 เปอร์เซนต์ สุดยอดมาก ๆ เลยนะคะและนอกจากนี้ หากผู้เสียชีวิตมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ติดตัว เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ อวัยวะเทียม หรือวัสดุสังเคราะห์ต่าง ๆ การทำฌาปณกิจด้วยน้ำ ยังคงสภาพเดิมวัสดุนั้นอยู่ สามารถนำกลับไปบริจาคเพื่อใช้งานต่อได้อีก ไม่เหมือนกับการเผา ที่ทุกอย่างจะถูกทำลายไปพร้อมกันทีเดียว
นอกจากนี้หลายคนอาจกังวลว่า วิธีการนี้ประหยัดไฟก็จริง แต่มันจะไปเปลืองน้ำแทนนะสิ บอกเลยว่า การ Aquamation ใช้น้ำเพียงแค่ 1 ใน 7 ของการฌาปณกิจแบบปกติเท่านั้น ซึ่งน้ำที่เกิดขึ้นหลังจากผ่านกระบวนการแล้ว มีเพียงแค่สารประกอบอินทรีย์ที่มีฤทธิ์เป็นกลางแล้ว ที่สำคัญปลอดเชื้อ และยังมีเกลือ และกรดอะมิโนหลงเหลืออยู่ ซึ่งสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ย หรือปล่อยลงสู่แหล่งน้ำได้อย่างปลอดภัยหายห่วงค่ะ
ปัจจุบันนี้ วิธีการ Aquamation ได้รับรองตามกฏหมายแล้วใน 19 รัฐของสหรัฐอเมริกา และกำลังจะมีการรับรองในอีกหลาย ๆ รัฐเพิ่มเติม รวมทั้งยังมีการใช้ในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้น ยังคงมีความเป็นวิธีดั้งเดิม ได้แต่หวังว่าในอนาคต วิธีนี้เป็นที่แพร่หลายทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย