เที่ยวสามพันโบกกับน้ำโขงสีคราม
หากจะกล่าวถึงแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นเคยกับที่แห่งนี้ "สามพันโบก"แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสุดคลาสสิค ที่เป็นเป้าหมายในการเดินทางของเหล่านักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัด ที่ไม่ว่าจะมาเพื่อเชยชมความงามของแก่งหิน หรือจะมาเพื่อกางเตนท์ตั้งแคมป์ปาร์ตี้ แต่เชื่อว่าทุกท่านคงจะต้องประทับใจกับความมหัศจรรย์แห่งอิสานใต้เป็นแน่
กุมภลักษณ์ที่ธรรมชาติสรรค์สร้างมาอย่างลงตัว สะท้อนความงามที่ใช้เวลานาน แก่งหินที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำจนเกิดเป็นโบกลึก ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ริมโขง รายล้อมไปด้วยชุมชนที่ต่างพึ่งพาแม่น้ำโขงในการทำมาหากิน “น้ำกัดเซาะจนเกิดเป็นศิลปกรรมทางธรรมชาติและน้ำยังเป็นลมหายใจที่ช่วยต่อชีวิตให้ชาวบ้านริมโขงได้มีอาชีพทำมาหากินต่อไป”
เที่ยวสามพันโบก
เช้าตรู่ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ฉันเริ่มออกเดินทางเพื่อที่จะไปท่องเที่ยว โดยหมายหมุดที่อยู่ในใจก็คือ“สามพันโบก” ทริปเที่ยวเล็กๆได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อรถได้เคลื่อนที่จากตัวเมืองอุบลราชธานี โดยใช้เส้นทางหลวง 2050 ไปยังอำเภอโพธิ์ไทร ซึ่งระยะทางอยู่ที่ประมาณ 110 กิโลเมตร จากนั้นก็ขับรถตรงไปที่สามพันโบก นอกจากนี้ถ้าหากไม่เร่งรีบจนเกินไปนัก เราสามารถเดินทางไปยังหาดสลึง บ้านสองคอน เพื่อใช้บริการล่องเรือชมแม่น้ำโขง ผ่านหาดหงส์และไปสิ้นสุดที่สามพันโบก ซึ่งในเส้นทางการล่องเรือนี้จะผ่าน”ปากบ้อง”จุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำโขงด้วย
“มีรถรับจ้างเด้อครับ มาทางพี้ มาทางพี้’’ทันทีที่เดินทางมาถึงสามพันโบก เสียงจากคนรับรถรับจ้างก็ดังมาเป็นระยะ จากที่ได้พูดคุยกับ”พี่อุ้ย”คนขับรถรับจ้าง ทราบมาว่าจากจุดที่จะไปถึงโบกหิน จะต้องผ่านเนินทรายระยะทางกว่า 1.5 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวส่วนมากไม่ค่อยเดินลงไป เพราะอากาศค่อนข้างร้อนจึงได้มีบริการรถรับจ้างคอยรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ทั้งขาไปขากลับ รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร ส่วนค่าบริการนั้นอยู่ที่ 200 บาทต่อรถ1คัน จะขึ้นไปกี่คนก็ได้ และแน่นอนว่าฉันเองเลือกที่จะเดินลงไป แม้ในใจจะอยากประหยัดพลังงานไขมันในตัวที่สะสมมา แต่เพราะกลัวว่าถ้าหากนั่งรถรับจ้าง ทริปเที่ยวเล็กๆที่เรียบง่ายของฉันจะเกินงบประมาณไปหน่อย
ดูเหมือนการเดินเท้าลงมาจะไม่แย่เท่าไหร่ เพราะได้ชมอาหารตาจากผืนทรายที่มีความระยิบระยับสวยงาม เมื่อเราเดินมาถึงจุดที่เริ่มเป็นโบกจะสังเกตเห็นได้ชัดมากถ้าหากเดินทางมาในช่วงหน้าแล้งคือในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มิถุนายน แม่น้ำโขงลดระดับลง แนวผาหิน โขดหิน ที่เคยอยู่ใต้น้ำก็โผล่พ้นขึ้นมาให้เราได้ยลโฉมกับความงามจากธรรมชาติ ฉันเบิกตาเก็บภาพความสวยงามเข้าคลังความทรงจำได้ไม่นาน ก็สังเกตเห็นหินผารูปทรงแปลกตา ที่ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวคนอื่นๆเข้าไปถ่ายรูปเป็นจำนวนมาก เป็นหินที่มีลักษณะคล้ายหัวสุนัข ถัดไปจากจุดนั้นประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะมีโบกหินที่มีลักษณะคล้ายกับมิกกี้เมาส์ ตัวการ์ตูนยอดฮิตที่ไม่ว่าใครเดินผ่านก็อดถ่ายรูปไม่ได้ ซึ่งบางคนก็ลงไปสัมผัสกับน้ำที่ขังอยู่ในโบกแล้วพูดด้วยภาษาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ว่า”มาฮอดแล้วเด้อ สามพันโบก ให้ขอเลขแหน่เด้อ”
บนลานหินกว่า 10 ตารางกิโลเมตร บริเวณนี้เป็นแก่งหินที่มีหลุมมีบ่อโผล่ขึ้นมากมายนับได้กว่า 3000 หลุม จึงเป็นเหตุให้เรียกที่นี่ว่าสามพันโบก โดยคำว่า”โบก”ในภาษาอิสานนั้นแปลว่า”หลุม” นอกเหนือจากความสวยงามทางธรรมชาติแล้ว ชาวบ้านที่อยู่ระแวกนั้นยังได้เล่าถึงตำนานที่สามพันโบกเรื่อง “ปู่จกปู” คือเรื่องเล่าตำนานพื้นบ้าน ที่ร้อยเรียงถึงปู่กับหลานคู่หนึ่ง ลงเรือลอยลำหาปลากลางลำน้ำโขงและได้แวะมาพักที่โขดหินแห่งนี้ ฝ่ายหลานรู้สึกหิวขึ้นมา ปู่จึงได้เอามือล้วงเข้าไปในหลุมโบก เพื่อจับปูมาทำอาหารให้หลานกิน ตำนานพื้นบ้านสุดคลาสสิคที่มีการเล่าต่อกันมาผ่านชาวบ้านที่อยู่ในท้องที่เป็นการสะท้อนถึงธรรมชาติและชุมชนจากริมโขงที่อยู่คู่กันอย่างเเท้จริง
หากินลำบาก
จากที่ได้พูดคุยกับพี่อุ้ยคนขับรถรับจ้างนำเที่ยว พี่อุ้ยได้แนะนำให้รู้จักกับ”พี่พงษ์”ชาวบ้านสำโรงชุมชนริมโขงที่มีอาชีพหาปลา โดยพี่พงษ์ได้เล่าถึงการทำมาหากินในช่วงที่ผ่านมาว่ามีความยากลำบากเนื่องจากระดับในแม่น้ำโขงเหือดแห้ง และขึ้นลงผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและรายได้เป็นอย่างมาก พี่พงษ์เล่าถึงสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอย่างไม่รู้สาเหตุ แววตาดูไร้ความหวังแต่ก็ยอมรับในเวลาเดียวกัน
ข้อเท็จจริงปัจจุบัน การสร้างเขื่อนของจีนในแม่น้ำโขง มหานทีที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนกว่า 60 ล้านคนจาก 6 ประเทศ ตั้งแต่จีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ส่งผลต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงเหือดแห้งแม้เป็นฤดูฝนและขึ้นลงผิดปกติ เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทั้ง 11 แห่งในประเทศจีนและลำน้ำสาขาที่สร้างขึ้น โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยสติมสันเซ็นเตอร์ (Stimson Center) ในสหรัฐฯ ตีพิมพ์รายงานศึกษาเกี่ยวกับเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงว่า เขื่อนแห่งแรกในจีนคือ เขื่อนม่านวาน ในมณฑลยูนนาน สร้างเสร็จเมื่อปี 1993 ส่วนเขื่อนแห่งที่ 11 ได้แก่ เขื่อนวุนอองหลง ก่อสร้างเสร็จเมื่อปลายปี 2008
ซึ่งถ้าหากเราดูตามแผนที่ ที่เส้นทางแม่น้ำโขงไหลลงจากต้นกำเนิดในทิเบตผ่านจีนในแถบลุ่มน้ำโขงตอนบนจะเห็นได้ว่าเขื่อนทั้ง 11 แห่ง มีลักษณะเป็น”เขื่อนขั้นบันได” โดยเขื่อนตอนล่างสุด คือ “เขื่อนจิงหง” ตั้งอยู่เมืองเชียงรุ้ง ดินแดนสิบสองปันนา เป็นเขื่อนที่อยู่ไกล้ชายแดนไทยมากที่สุด บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงรายราว 340 กิโลเมตร และการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อจุดประสงค์ในการเก็บน้ำไว้เพื่อผลิตไฟฟ้า เปรียบเสมือนยาพิษที่ค่อยๆทำร้ายชาวบ้านไปเรื่อยๆ เพราะไม่สามารถทำมาหากินในอาชีพที่เคยทำได้
ฉันนั่งฟังพี่พงษ์และทีมงานนักจับ(ปลา) พูดคุยกันถึงเรื่องนี้อยู่สักพักใหญ่ ฉันถามคำถามด้วยความสงสัยไปหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความสงสัยในเรื่องกิจกรรมที่ชาวบ้านริมโขงทำกันในอดีต หรือความสงสัยเรื่องการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นลงของระดับน้ำ แต่คำตอบที่ได้กลับทำให้รู้สึกฉงนใจอยู่ไม่น้อย เพราะพวกเขาดูไม่มีความรู้และเข้าใจในเรื่องนี้เลยแม้จะเป็นเรื่องไกล้ตัว
โขงสีปูน มูลสีคราม สายน้ำที่(เคย)อุดมสมบูรณ์
แม้ว่าปรากฏการณ์น้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีฟ้าคล้ายน้ำทะเลหรือสีครามสวยงาม สร้างความตื่นตาแก่ผู้ที่ได้พบเห็น จนหลายพื้นที่ได้หยิบยกความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาโปรโมตเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวแต่หารู้ไม่ว่านั่นคือหายนะทางระบบนิเวศ ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง ได้ไขปริศนาแม่น้ำโขงสีครามว่าแท้จริงคือปรากฏการณ์ภาวะไร้ตะกอน ระบบนิเวศแม่น้ำโขงถูกทำลายสิ้นเชิง
“พอมันเกิดความผันผวนในแม่น้ำโขง เดี๋ยวนี้เราหาปลากันไม่ได้เลย” พี่พงษ์บอกกับฉัน
ก่อนที่จะเล่าถึงเรื่องราวในอดีตให้ฟังเล็กน้อย เดิมทีนั้นครอบครัวของพี่พงษ์เขาออกหาปลาทุกวัน เติบโตมาก็ออกหาปลาเป็นแล้ว ทำแบบนี้มานานตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ซึ่งพอปัจจุบันต้องพบเจอกับสถานการณ์น้ำที่ผันผวนขึ้นลง อุปสรรคก็มากขึ้น อย่างเช่นถ้าจะทอดแหลงไปจับปลาก็อาจจะติดโขดหิน และจำนวนปลาก็ลดลงอย่างน่าใจหาย
โดยกรมทรัพยากรน้ำได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง (2557) งานวิจัยไทบ้านสำรวจพบว่ามีพันธุ์ปลาในน้ำโขงอย่างน้อย 97 ชนิด พี่พงษ์บอกว่าตะกอนที่เคยพัดพามากับน้ำ เปรียบดั่งปุ๋ยธรรมชาติที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ ถ้าหากน้ำโขงมีสีใสอย่างทุกวันนี้นั่นคงหมายถึงระบบนิเวศในแม่น้ำโขงได้พังไปอย่างสิ้นเชิง ฉันนั่งฟังเรื่องราวจากพงษ์และทีมงานนักจับ(ปลา)อยู่สักพัก ก็เกิดความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับปลาที่ชาวบ้านแถวนี้หาได้ “พี่บุตร” นักขายมือฉกาจ ภรรยาของพี่พงษ์ก็ได้เล่าถึงชนิดของปลาที่ตนขายอยู่บ่อยๆว่า ส่วนมากจะขายปลาสวายและปลาค้าวเป็นหลัก ถ้าจับได้นอกเหนือจากนั้นก็จะเก็บไว้กินเอง พี่พงษ์ให้เหตุผลประกอบว่าที่ขายปลาสองชนิดนั้นก็เพราะพี่บุตรไม่ชอบกินก็เลยขายออกไป และราคาของปลาสวายอยู่ที่กิโลละ 220 บาท ส่วนปลาค้าวนั้นราคาอยู่ที่ 250 บาท
ฉันได้ฟังเหตุผลประกอบก็ถึงกับอมยิ้ม แต่ก็เป็นที่น่าใจหายเพราะถ้าหากสถานการณ์แม่น้ำโขงยังเป็นเช่นนี้อยู่ “ครอบครัวในชุมชนลุ่มน้ำโขงคงต้องอพยพไปเป็นแรงงานต่างถิ่น’’
ความคาดหวัง
พี่พงษ์และทีมงานนักจับปลา ต่างเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาคาดหวังเพียงแค่ให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นและรัฐบาล มีการสื่อสารข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ลุ่มน้ำโขงได้รับทราบ และทั่วถึง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านที่ไม่ต้องได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้งการทำหน้าที่ของรัฐบาลในการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในการใช้ทรัพยากรในลุ่มแม่น้ำโขงที่ไม่นำไปสู่ผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มแม่น้ำโขง
ซึ่งชาวบ้านสะท้อนอีกว่า เมื่อพิจารณามูลค่าทางเศรษฐกิจที่ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงได้รับถือว่ามีมูลค่ามหาศาล และเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารชั้นเยี่ยม ที่ทำให้มีกินจนถึงทุกวันนี้ การเดินทางมาท่องเที่ยวของฉันในครั้งนี้ช่างอิ่มใจกับความงดงามของกุมภลักษณ์ที่ธรรมชาติสรรค์สร้างอย่าง “สามพันโบก” และฉันก็มีความหวังร่วมกับชาวบ้านริมโขง “ความหวังที่รัฐบาลต้องขับเคลื่อนต่อไป”