ประวัติศาสตร์อาจไม่ซ้ำ!!! เมื่อภูมิคุ้มกันหมู่อาจจะหยุด COVID ไม่ได้เหมือนที่เคยหยุดโรคหัดในอดีต
หลายประเทศออกมาประกาศชัดเจนว่าประชาชนจะต้องอยู่ร่วมกับ COVID ให้ได้ โดยเร่งการเปิดประเทศ ผ่อนปลนข้อบังคับด้านความปลอดภัย และเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดหวังว่าเมื่อประชาชนมีภูมิคุ้มกันจากทั้งที่เป็นโดยธรรมชาติหรือได้รับจากการฉีดวัคซีนก็จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และเอาชนะโรคร้ายได้ในที่สุด แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับอดีตบางทีภูมิคุ้มกันหมู่อาจจะไม่ได้เป็นกุญแจสำคัญที่จะให้มนุษย์ชาติเอาชนะ COVID-19 ได้อย่างที่คิด
ภูมิคุ้มกันหมู่และความสำเร็จในอดีต
ภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity คือวิธีการที่มีจำนวนประชากรในสังคมที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคร้ายมีจำนวนมากพอ จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคร้ายลดลง และช่วยป้องกันไม่ให้คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันติดโรคร้าย เพราะเมื่อมีคนป่วยที่ติดโรคเข้ามาในสังคมจะไม่สามารถแพร่เชื้อไปยังคนที่มีภูมิได้ และโอกาสที่จะแพร่ไปยังคนที่ไม่มีภูมิก็น้อยลง สุดท้ายเมื่อแพร่ไม่ได้ และผู้ป่วยหาย เชื้อโรคก็จะหยุดระบาดในที่สุด
ตัวอย่างที่สำคัญของภูมิคุ้มกันหมู่คือการที่มนุษยชาติสามารถเอาชนะโรคหัด (Measles) ได้ในอดีต เมื่อครั้งที่โรคหัดระบาดอย่างหนักในอเมริกา หากมีผู้ป่วยโรคหัดเข้ามา 1 คน ประชากรที่อยู่ในบริเวณนั้นจะถึง 90% มีโอกาสที่จะติดเชื้อหัด และกระจายเชื้อโรคต่อกันเป็นทอดๆ เกิดเป็นปัญหาสุขภาพทั่วทั้งอเมริกาในทันที
แต่แล้วนักวิทยาศาสตร์สามารถแก้วิกฤตสุขภาพนี้ไปได้โดยสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคหัดที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 97% แถมสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคร้ายนี้ได้ตลอดชีวิต นอกจากนี้แต่ละรัฐของพญาอินทรีประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีนไปให้เด็กๆ ที่จะเข้าสู่โรงเรียนอนุบาล ส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ไปทั่วทั้งประเทศอเมริกา และยับยั้งไม่ให้เกิดการระบาดของโรคหัดในประเทศได้อย่างน้อย 20 ปี คงเหลือแต่เคสติดโรคประปรายเนื่องจากติดจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งผลลัพท์ดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ว่าภูมิคุ้มกันหมู่สามารถคุ้มครองประชาชนให้พ้นภัยได้จริง
ทำไมนักวิทยาศาสตร์ถึงเริ่มวิตกว่าภูมิคุ้มกันหมู่อาจใช้ไม่ได้กับ COVID-19
ในช่วงปลายปี 2020 ถึงกลางปี 2021 ประชาคมโลกต่างตื่นเต้นและยินดีกับการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ที่รุดหน้าไปอย่างกว้างขวาง โดยความคาดหวังของนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และแพทย์มองว่าเมื่อสามารถคิดค้นและผลิตวัคซีนประสบความสำเร็จ การกระจายวัคซีนไปทั่วทุกมุมโลก จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่ แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 1 ปี ประชาคมโลกก็ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้
Dr. Anthony Fauci ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (National Institutes of Allergy and Infectious Diseases) ได้ให้ความเห็นว่าภูมิคุ้มกันหมู่อาจนำมาใช้สู้กับ COVID-19 ไม่ได้ เพราะ COVID-19 มีจุดแตกต่างออกไปจากสมัยที่อเมริกาสามารถกำราบโรคหัดได้อย่างอยู่หมัด ดังนี้
1. COVID-19 มีการกลายพันธ์อย่างต่อเนื่อง
Dr. Fauci ให้ตัวอย่างว่าในเวลาไม่นาน SARS-CoV-2 เชื้อร้ายที่ก่อให้เกิด COVID-19 กลายพันธ์ไปแล้วหลายชนิด โดยมีพันธ์ที่ดุร้ายเป็นที่น่าจับตามองอย่างน้อย 5 สายพันธ์คือ Alpha, Beta, Delta, Omicron และ Omicron BA.2 การกลายพันธ์อย่างรวดเร็วทำให้ภูมิคุ้มกันไม่สามารถต่อกรกับไวรัสได้ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้เกิดอาการเป็นซ้ำได้อีก แตกต่างจากโรคหัดที่มีการกลายพันธ์น้อยและภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก
2. หลายกลุ่มไม่ยอมรับวัคซีน
เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ดังนั้นประชาชนจึงมีสิทธิเลือกที่จะรับหรือไม่รับวัคซีน COVID-19 ก็ได้ โดยเฉพาะวัคซีน COVID-19 ที่ผ่านโปรแกรมเร่งรัดและเร่งขั้นตอนการทดสอบให้ออกมาสู้กับโรคระบาดยิ่งทำให้หลายคนสงสัยถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตัววัคซีนเอง ซึ่งต่างจากโรคหัดที่ทุกคนพร้อมใจกันรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เร็วที่สุด
3. ประสิทธิภาพของวัคซีนก็เป็นสิ่งสำคัญ
Dr. Adam Kucharski ผู้อำนวยการร่วมแห่ง Center for Epidemic Preparedness and Response แห่ง London School of Hygiene and Tropical Medicine ได้ออกมาบอกว่าหากเราจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับ COVID-19 สายพันธ์ Delta ประสิทธิภาพของวัคซีนจะต้องช่วยป้องกันการแพร่เชื้อได้อย่างน้อย 85% และสามารถกระจายวัคซีนให้ประชาชนประมาณ 98% ถึงจะเอาอยู่ ถ้าไม่สามารถทำได้ถึงขั้นนั้น โอกาสที่ภูมิคุ้มหมู่จะเกิดก็จะมีน้อยลงไป
แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
แม้มีหลายเหตุและปัจจัยที่เราอาจไม่สามารถนำภูมิคุ้มกันหมู่มาสู้กับ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่นักวิจัยก็พยายามหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างสุดความสามารถ โดยหลายบริษัทพยายามที่จะพัฒนาวัคซีน COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถใช้ได้กับหลายสายพันธ์โดยเลือกจากโปรตีนหนาม (Spike Protein) ที่ไม่มีการกลายพันธ์นอกจากนี้ พวกเขาพยายามพัฒนาวิธีการกระจายวัคซีนให้สามารถทำได้ง่าย รวดเร็วมากขึ้น เช่น การกระจายวัคซีนผ่านการพ่นละอองเข้าจมูก เพื่อสร้าง antibodies ที่จุดหลักที่ไวรัสจ้องจะโจมตีอย่างหลอดลม ลำคอ และจมูก เป็นต้น
ท้ายที่สุดเราอาจจะต้องพึ่งการกลายพันธ์ของไวรัสให้เป็นประโยชน์เนื่องจากไวรัสจำเป็นต้องมีผู้ป่วยในการแพร่เชื้อ ดังนั้นหากไวรัสมีความรุนแรงมาก สังหารผู้ป่วยอย่างรวดเร็วก็อาจทำให้ไวรัสหมดไปจากโลกก็เป็นได้ ดังนั้นไวรัสเริ่มจะกลายพันธ์ให้มีอาการและความรุนแรงน้อยลง แต่แพร่ได้เร็วขึ้น ซึ่งสุดท้ายมนุษย์ก็น่าจะสามารถเอาชนะไวรัสที่อ่อนกำลังลงได้ในที่สุด
เมื่อย้อนกลับมาที่ไทย หลังจากจบเทศกาลสงกรานต์ เราคงต้องมาดูตัวเลขกันอีกครั้งครับว่ามีการแพร่กระจายของเชื้อโรคมากน้อยแค่ไหน และหากมีการแพร่กระจายมาก ผู้มีอำนาจจะมีกลยุทธ์ในการลดผู้ติดเชื้อได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ ต้องตั้งการ์ดให้สูง ระมัดระวังให้มั่นเพื่อเราจะรอดไปด้วยกันครับ
Ref: https://en.wikipedia.org/wiki/Herd_immunity
Ref: https://edition.cnn.com/2022/04/15/health/covid-19-herd-immunity/index.html
Ref: https://www.marketwatch.com/story/fauci-herd-immunity-to-sars-cov-2-may-be-unattainable-11649158094