วันละโรค
ตอน วันละโรค
“หมอ ผมไอเป็นเลือด ผมกลัวจะเป็นวันละโรคจังเลยหมอ” คนไข้นักศึกษาหนุ่มวัย 20 ปี เข้ามาพบหมอกอล์ฟในห้องตรวจด้วยความกระวนกระวาย
“มีไข่ต่ำๆตอนบ่ายหรือค่ำไหมครับ” ผมเริ่มซักประวัติ
“ไม่มีครับหมอ”
“ไอมากี่วันแล้วครับ”
“2-3 วันแล้วครับ”
“เสมหะมีแต่เลือดเลยเหรอ”
“บางครั้งก็ไอแห้งๆ”
“มีอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไหมครับ” หมอกอล์ฟถามต่อ
“ไม่ครับหมอ น้ำหนักขึ้นด้วยซ้ำ”
“ที่บ้านมีคนป่วยเป็นโรคนี้หรือเปล่าครับ”
“ทุกคนสบายดีครับ มีแต่ผมนี่แหละที่ป่วย”
“แล้วน้องมีโรคประจำตัวอะไรไหมครับ”
“ยังไม่มีครับผม”
“จากที่ถามมาทั้งหมด อาการไม่ค่อยจะตรงกับโรคที่น้องกังวลนะครับ”
“วันละโรค เหรอหมอ”
“หมอว่าไม่ใช่มั้งครับ เค้าชื่อว่า วัณโรค ส่วนวันนี้ ถ้าจะได้โรค ก็คงเป็นโรค หวัด มากกว่าครับ”
“จริงเหรอครับหมอ ดีใจจังเลย กลัวแทบแย่ นึกว่าไอเป็นเลือดแล้วจะต้องตาย ซะแล้ว”
“ทำไมคิดอย่างนั้นครับ”
“ก็ละครกี่เรื่องๆ ใครที่ไอเป็นเลือดไม่นานก็ตายนะครับพี่หมอ”
“ยังไงเกิดมาทุกคนก็ต้องตายนะครับน้อง” ผมพูดเชิงให้แง่คิด
“ไว้ตายตอนแก่ดีกว่าครับหมอ ตอนนี้ยังไม่อยากตาย 555”
เห็นคนไข้ยิ้มได้ผมก็คลายกังวลใจ
เรื่องที่ผมอยากจะเคลียร์กันให้เข้าใจ ตอนนี้เลยนะครับ ว่า อาการที่น่าสงสัยของวัณโรค ไม่ใช่ ไอเป็นเลือด แบบในละคร แล้วจะต้องป่วยเป็นโรคนี้กันทุกคน สุดท้ายจะต้องตายภายในไม่กี่วัน ไม่กี่ตอนของละคร ซึ่งมันไม่ใช่นะครับ เพราะอาการไอเป็นเลือด อาจเกิดจากหลอดลมอักเสบ เป็นแผลในปาก หรือการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ที่ไม่ใช่วัณโรคก็เป็นได้
อาการที่น่าสงสัยของวัณโรคจะต้อง ประกอบด้วย ไอติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย มีไข้ต่ำๆตอนบ่ายหรือค่ำ ช่วงที่เชื้อโรคมันซ่ามากกว่าตอนกลางวัน มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหงื่อออกมากผิดปกติตอนกลางคืน
ส่วนคนที่น่าจะมีความเสี่ยงก็คือ คนที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่ได้รับการรักษา ซึ่งจริงๆแล้วโรคนี่รักษาให้หายขาดได้ ถ้าไปรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลข้างเคียงของยาอาจทำให้ผู้ป่วยหมดกำลังใจ ไม่อยากทานยาต่อไป จึงจำเป็นต้องมีบุคคลใกล้ชิด อาสาสมัครสาธารณสุข พระ หรือครู เป็นผู้ช่วยกำกับดูแล
ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคควรงดสิ่งเสพติดทุกชนิด รวมทั้งเหล้า เบียร์ บุหรี่ เครื่องดื่มชูกำลัง , ปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอหรือจาม เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ หากจะบ้วนเสมหะต้องบ้วนในภาชนะหรือกระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิด จัดบ้านให้มีอากาศถ่ายเท แสงแดดส่องถึง
นอกจากคนที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยแล้ว บุคคลที่มีความเสี่ยงรองลงมาคือคนที่อยู่ในชุมชนแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เสพสารเสพติด นั่นเอง
ถ้าอยากสุขภาพดีห่างไกลโรคนี้ก็ควรที่จะเริ่มดูแลตนเองเสียตั้งแต่วันนี้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานผักผลไม้บ้าง ไม่ใช่ท่านแต่เนื้อสัตว์อย่างเดียว หลีกเลี่ยงขนมหวาน อาหารมัน หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น สำส่อนทางเพศเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอดส์ เพราะภูมิคุ้มกันจะต่ำลงจนมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ หันมาทำพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ไม่เครียด ไม่นอนดึก หรืออดนอน ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญหากมีโอกาสตรวจร่างกายประจำปี รวมไปถึงการเอกซเรย์ปอดก็ควรจะทำอย่างน้อยปีละครับ