ออฟฟิศซินโดรม ภัยร้ายของคนทำงาน
ออฟฟิศซินโดรม ภัยร้ายของคนทำงาน
โดย : อักษราลัย
ออฟฟิศซินโดรม คุณเป็นอยู่หรือไม่ ในปัจจุบันการใช้คอมพิวเตอร์ถือเป็นเรื่องปกติของคนทุกเพศทุกวัย แต่สำหรับคนทำงานนั้นการใช้คอมพิวเตอร์ถือเป็นกิจวัตรหลักในแต่ละวัน ยิ่งใช้เวลากับหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเท่าไหร่ อาจมีอาการของโรคตามมาได้มากเท่านั้น โดยเฉพาะอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกือบทุกคนจะต้องมีอาการ วันนี้จะมานำเสนอเรื่องราวของโรคนี้ให้ได้ทราบกันค่ะ
ปัจจุบันเราสามารถหาข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วฉับไวเพียงแค่คลิกเมาส์เท่านั้น ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จะปรากฏมายังหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทําให้ไม่ต้องออกแรงเดินไปไหนให้เมื่อย แต่ความสะดวกสบายนี้ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะทางร่างกายทําให้มีอาการปวดในบริเวณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไหล่ คอ หลัง สะบัก ข้อมือ กระบอกตา หรือมีอาการ ชามือและเท้า ซึ่งเหล่านี้คืออาการของ “ออฟฟิศ ซินโดรม”
ออฟฟิศซินโดรม(Office Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่มักพบในกลุ่มคนวัยเรียนและวัยทํางานที่ต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากสภาพแวดล้อมและภาวะงานที่เร่งรัดทําให้ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน มีสาเหตุใหญ่ ๆ 2 ประการ คือ การดําเนินชีวิตที่ผิดไปจากวิถีธรรมชาติ เช่น การทํากิจกรรมใดซ้ำเดิมนาน ๆ เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหดหรือเกร็งตัวค้างจนบาดเจ็บสะสม หรือจากพฤติกรรมกินอาหารที่ไม่เหมาะสม
และสาเหตุอีกประการหนึ่งคือความเครียดหรือความวิตกกังวลซึ่งจะสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อและจะแสดงออกมาด้วยอาการปวดเกร็งบริเวณบ่า คอ หลังและศีรษะ บางรายที่เครียดลงกระเพาะอาหารอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หรือเป็นโรคกระเพาะอาหารได้ เพราะความเครียดจะไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารให้หลั่งกรดออกมามากกว่าปกติ นอกจากอาการจุกจิกกวนใจข้างต้นแล้ว ออฟฟิศซินโดรมยังเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายอื่น ๆ ที่จะตามมาด้วย ทั้งกระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน ความดันโลหิตสูง หัวใจ ไมเกรน และหอบหืด
ดังนั้น ก่อนที่จะสายเกินไปเรามาเรียนรู้สาเหตุของอาการออฟฟิศซินโดรมต่าง ๆ เพื่อจะได้แก้ไขได้อย่างตรงจุดกันดีกว่า
โรคออฟฟิศซินโดรมเกิดขึ้นได้อย่างไร
ส่วนใหญ่โรคนี้เกิดจากการนั่งทํางาน ไม่ถูกท่า คือ นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ในท่าหลังค่อม ตัวโน้มไปข้างหน้า มือวางคว่ำไว้บนแป้นพิมพ์ ซึ่งทําให้แขนบิดคว่ำตาม ถ้าแป้นพิมพ์อยู่สูงกว่าปกติยิ่งทําให้ต้องยกและห่อไหล่เข้าหากัน เมื่ออยู่ในท่านี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อที่พยุงตัวและกระดูกจะต้องหดเกร็งอยู่ในท่าเดิมทําให้เกิดอาการเมื่อยล้าจนกระทั่งกล้ามเนื้อทนไม่ไหวส่งผลให้มีอาการเจ็บตามกล้ามเนื้อขึ้นมา หรือที่เรียกว่าอาการปลายประสาทอักเสบ โดยมักมีสัญญาณเริ่มต้นอย่างอาการมือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก ไปจนถึงการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นนิ้วมือ เพราะกล้ามเนื้อไปกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกได้
เป็นแล้วทำอย่างไร
สำหรับคนที่ป้องกันไม่ทัน เป็นไปแล้ว วิธีการรักษารักษาระยะสั้นจะเป็นไปตามอาการคือ หากปวดเมื่อยก็ให้ยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายเส้น ยาแก้อักเสบ แพทย์ทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู จะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัด แต่การรักษาแบบนี้ก็เป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น โรคนี้จะไม่หายขาดตราบใดที่เรายังใช้งานร่างกายอย่างหนัก
วิธีช่วยรักษาระยะยาว
สิ่งสำคัญของการป้องกันโรคออฟฟิศ ซินโดรม อีกอย่างคือ การเปลี่ยนทัศนคติของตัวเอง ให้เป็นคนไม่เครียด และมองโลกในแง่ดีเสมอ เพราะแม้จะยังไม่มีผลงานวิจัยรายงานที่แน่นอน แต่จากการทำงานรักษาผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรมมากว่า 20 ปี พบว่าคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ค่อนข้างเครียด หรือมีปัญหาที่ทำงาน ปัญหาทางบ้าน แทบทั้งสิ้น ซึ่งความเครียดไม่ได้ส่งผลแค่กับโรคนี้เท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งโรคร้ายอีกหลายโรค
ดังนั้น การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคปลายประสาทอักเสบจึงต้องแก้กันที่พฤติกรรมโดยรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายป็นประจำ และเปลี่ยนอิริยาบถขณะนั่งทำงานทุกชั่วโมง ไม่นั่งติดโต๊ะนานจนเกินไป
หรือถ้าให้ดีควรให้ร่างกายได้รับวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการบำรุงระบบประสาท มีส่วนช่วยในการให้พลังงานเซลล์ประสาท สร้างสื่อประสาท และช่วยซ่อมแซมเส้นประสาท ซึ่งจะส่งผลต่อการลดอาการชาปลายมือปลายเท้า รวมถึงอาการปวดร้าว แสบ แปล็บ และเจ็บจี๊ด โดยจากการศึกษาต่าง ๆ พบว่า วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ร่วมกันทั้งสามชนิดจะให้ประสิทธิภาพในการรักษาโรคปลายประสาทอักเสบที่ดีกว่าวิตามินบีแบบตัวเดียว
ตรวจสอบร่างกาย ระวังภัย ก่อนเข้าข่าย “ออฟฟิศซินโดรม”
แม้เราจะป้องกันตัวเองในเบื้องต้น แต่หากเกิดอาการขึ้นมาแล้วออฟฟิศซินโดรมก็ ไม่ใช่แค่โรคธรรมดาที่กินยานอนพักแล้วหาย แต่เป็นอาการของโรคที่อาจส่งผลร้ายในระยะยาวกับร่างกาย จากพฤติกรรมที่คุณเองเป็นคนสร้าง ฉะนั้นถ้าอยากห่างไกลจากออฟฟิศซินโดรม ก็อย่าลืมดูแล และป้องกันตนเองตั้งแต่เนิ่น ๆ
อย่าชะล่าใจจนแล้วปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ เพราะอาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง รวมไปถึงอาการชาที่บริเวณแขนหรือมือ จากการที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้
ทางที่ดีหากใครพบอาการผิดปกติที่เสี่ยงต่อการเกิดออฟฟิศซินโดรมและอาจลุกลามไปสู่การเกิดโรคปลายประสาทอักเสบ ควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เมื่อพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที หรือหากว่าการอักเสบของเส้นประสาทบางตำแหน่งมีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินบางชนิด ควรได้รับการแก้ไขด้วยการรับวิตามินเสริมอย่างเพียงพอ ก็อาจทำให้หายจากอาการและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเส้นประสาท ทำให้มีโอกาสหายเป็นปกติได้มากขึ้นอีกด้วย ทำให้คุณใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข สุขภาพดี ห่างไกลโรคนั่นเอง
วิธีป้องกัน
ควรเลือกโต๊ะทำงานให้มีระดับพอดีกับข้อศอก เพื่อที่จะสามารถพิมพ์แป้นคีย์บอร์ดได้อย่างถนัด รวมถึงที่แป้นคีย์บอร์ด ควรมีที่รองรับข้อมือไม่ให้ข้อมือกระดกบ่อย ๆ และควรจัดสภาพโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อความสะดวกในการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ โดยไม่เมื่อย
อิริยาบถที่เสี่ยงเกิดโรคในกลุ่มออฟฟิศ ซินโดรม
* นั่งไขว้ห้าง เป็นระยะเวลานาน ๆ
* นั่งกอดอกนาน ๆ เพราะจะทำให้ปวดที่หัวไหล่ได้
* การนั่งหลังค่อม
* นั่งเก้าอี้ไม่เต็มก้น หรือนั่งครึ่งก้น เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง ไม่สมดุล
* การยืนโดยทิ้งน้ำหนักไปที่เท้าข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว
* การใส่รองเท้าส้นสูงมาก ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
* การสะพายกระเป๋าหนัก หรือหิ้วของหนักบ่อย ๆ
* นอนตัวเอียง นั่นคือ นอนขดนาน ๆ
จะเห็นว่าพฤติกรรมบางอย่างเป็นท่าทางที่เราทำกันเป็นประจำจนคุ้นชิน ทำจนเป็นนิสัย โดยไม่รู้เลยสักนิดว่าจะนำภัยร้ายที่ส่งผลเสียต่อร่างกายมาให้อย่างไม่น่าเชื่อ คงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมท่าทางในการนั่งทำงาน การละเว้นการนั่งไขว่ห้าง การกอดอก การใส่รองเท้าส้นสูง ฯลฯ ปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีของร่างกายกันเสียแต่วันนี้ ก่อนที่จะเสียใจในภายหลังกันนะคะ
<<-------------->>