กัญชา กับ กัญชง มีทั้งประโยชน์ และโทษ มาดูชัด ๆ ว่า ประโยชน์ และโทษ อะไรมากกว่า ? คุ้มหรือไม่ ที่เสพกัญชา กัญชง ?
กัญชา กัญชง ทั้ง 2 ชนิดเป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดเดียวกันในวงศ์ Cannabaceae อยู่ในตระกูล Cannabis เหมือนกัน ต่างกันที่สายพันธุ์ย่อย กัญชา กัญชง มีลักษณะคล้ายกันมาก แตกต่างกันเพียงทางกายภาพ คือ กัญชา ใบสีเขียวเข้มมีแฉก 5-7 แฉก ลำต้นเตี้ย สูงไม่เกิน 2 เมตร แตกกิ่งก้านมาก ส่วน กัญชง ใบสีเขียวอ่อน มี 7-11 แฉก ลำต้นสูงเรียวมากกว่า 2 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย
กัญชา กัญชง ต่างมีสาร THC (สารเสพติดประเภทที่ 1) และสาร CBD (ไม่เป็นสารเสพติด) สารที่พบมากในใบกัญชาคือ THC เมื่อเสพในปริมาณที่พอดี จะทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม และรู้สึกผ่อนคลาย ถ้าเสพในปริมาณมากเกินไป ก็อาจทำให้ใจสั่น หน้ามืดหรือเห็นภาพหลอนได้ เพราะกัญชาจัดเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทและกดประสาท หากนำไปใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและถูกต้อง ก็มีประโยชน์ทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน ส่วนสาร CBD พบมากในใบกัญชง เป็นสารที่มีการออกฤทธิ์ต้านอาการเมาเคลิ้ม และอาการทางจิต ส่วนมากจะถูกนำไปสกัดเพื่อใช้แปรรูปเป็นยารักษาโรคได้
ปัจจุบันเทคโนโลยีและความรู้ต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาที่ค่อนข้างก้าวไกล การนำใบกัญชาไปใช้ นอกเหนือจากประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว ยังถูกนำมาสกัดให้อยู่ในรูปของน้ำมัน เนย และขี้ผึ้ง ที่สามารถนำไปแปรรูปต่อเป็นขนม หรืออาหารทานได้
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ให้กัญชา และกัญชง พ้นจากการเป็นยาเสพติด ไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยกเว้นสารสกัด จาก กัญชา กัญชง ที่มีสาร THC สารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เกิน 0.2 % ที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5
การปลดล็อกให้พืชกัญชา และพืชกัญชง พ้นจากความเป็นยาเสพติด เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในการรักษา ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ทั้งยังสนับสนุนให้ กัญชา กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจอีกด้วย
สรุปคือ ประชาชนสามารถปลูกกัญชา กัญชงภายในบริเวณบ้านเรือน เพื่อประโยชน์ในการรักษาและดูแลสุขภาพได้ จะปลูกกี่ต้นก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่จดแจ้งผ่านทางเว็ปไซต์ และแอปพลิเคชั่น ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ชื่อว่า ปลูกกัญ แต่ถ้าปลูกเชิงพาณิชย์ หรือปลูกเพื่อขาย ต้องขออนุญาต จากกระทรวงสาธารณะสุขก่อนปลูก
กัญชา กัญชง ยังไงก็มีทั้งคุณและโทษ ต้องเรียนรู้และใช้ให้เป็น ใช้ให้เหมาะสม ก็จะได้ประโยชน์มากกว่า