ศรีลังกาโกลาหล!!! จากวีรบุรุษสู่วายร้ายร้ายท่ามกลางเศรษฐกิจที่ใกล้ล่มสลาย
ปัจจุบันประเทศศรีลังกาอยู่ในสภาวะโกลาหลและลำบากยากแค้น ผู้คนจำนวนมากบุกเข้าไปที่บ้านพักของประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารงานประเทศของตระกูล “ราชปักษา” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ สาเหตุอะไรที่ทำให้ยอดตระกูลกลายเป็นครอบครัวที่คนศรีลังกาโกรธแค้น เรามาดูกันครับ
จากอดีตจนถึงการก่อกบฏ
ประเทศศรีลังกามีสภาพเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย เป็นประเทศที่มีรากฐานการอยู่อาศัยมาแต่โบราณ ในอดีตศรีลังกาหรือเกาะลังถูกกล่าวถึงหลายครั้งในเรื่องมหากาพย์รามายนะ (รามเกียรติ์) และมหาภารตะ ส่วนที่เป็นที่จดจำคือกรุงลงกาที่อุดมไปด้วยเหล่ายักษ์ร้ายที่พระรามต้องกรีฑาทัพไปชิงนางสีดาและทำลายเหล่ายักษ์พาลเสียให้สิ้น
ปัญหาอีกประการของศรีลังกาคือมีสภาพเป็นเกาะและมีทรัพยากรที่เหมาะสมกับการทำกสิกรรม ทำให้ประเทศศรีลังการตั้งแต่อดีตโดยลุกไล่กดขี่โดยชาติอื่นมาตลิด ท้ายที่สุดศรีลังกาตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกชาซีลอยอันแสนสำคัญและได้รับเอกราชในปี 1972 โดนมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข
ประชากรส่วนใหญ่ของศรีลังกาเป็นชาวสิงหล และส่วนน้อยเป็นชาวทมิฬที่อาศัยในบริเวณทางใต้ของประเทศ ชาวทมิฬแม้เป็นส่วนน้อยแต่ก็ได้รับการปฏิบัติที่ดีจากชาวอังกฤษและกดขี่ชาวสิงหลอย่างหนัก เมื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งย่อมเป็นทีที่ชาวสิงหลจะเอาคืนบ้าง ท้ายที่สุดเกิดเป็นความบาดหมางระหว่างเชื้อชาติบานปลายไปจนถึงชาวทมิฬบางส่วนพยายามจะแบ่งแยกดินแดนออกมาเป็นประเทศที่ปกครองโดยชาวทิมฬโดยเรียกพวกตนว่า “อีแลม”
สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลชาวสิงหลและกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) ที่นำโดยนายเวลูพิไล ประภาการัน ดำเนินมาอย่างยาวนาน การดำเนินยุทธศาสตร์แบบฆ่าทำลายล้างของกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้ละเลงความเกลียดชังไปทั่วแดนดินและกลายเป็นช่องทางให้อินเดียขยายอิทธิพลเข้ามาในศรีลังกาในที่สุด การก่อการร้ายเกิดขึ้นไปทั่วท่ามกลางความพยายามสร้างชาติของกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมอันเป็นภัยร้ายต่อชาวสิงหล
วีรบุรุษผู้ยุติสงครามสู่วายร้ายทำลายประเทศในสายตาประชาชน
โกตาบายา ราชปักษาได้เกิดและเติบโตขึ้นท่ามกลางภัยก่อการร้ายของกลุ่มหัวรุนแรง ในปี 2005 ในระหว่างที่ตระกูลราชปักษากำลังปกครองประเทศ โกตาบายาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลางโหม และในปี 2009 สองพี่น้องแห่งราชปักษาได้ปราบปรามกลุ่มกบฏได้อย่างสิ้นซาก หมดยุคสมัยแห่งการก่อการร้ายและแบ่งแยกดินแดนในที่สุด ด้วยผลงานอันโดดเด่นของโกตาบายาทำให้ตระกูลราชปักษากลายเป็นวีรบุรุษแห่งศรีลังกา และได้รับความเชื่อมั่นในการปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของตระกูลราชปักษาค่อนข้างผิดพลาดจนทำให้เกิดภาวะวิกฤติเช่นปัจจุบัน ประการแรกศรีลังกาเน้นนโยบายสนับสนุนการค้าขายภายในประเทศ กำลังการผลิตและอุปสงค์ของศรีลังกาวนอยู่ในประเทศ ในขณะการส่งออกมีน้อยมาก แต่การนำเข้ามีมาอย่างมหาศาล ผลที่ตามมาคือเงินตราต่างประเทศของศรีลังกาก็ลดลงไปเรื่อยๆ จนแทบจะหมดประเทศ
ผลกระทบของการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้ไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อสินค้าที่จำเป็นจากต่างประเทศ ศรีลังกาจำเป็นต้องกู้เงินตราต่างประเทศเพื่อใช้จ่าย แต่เมื่อไม่มีการเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจเงินกู้ก็หมดสิ้น ทำให้ทั้งประเทศอยู่ในสภาวะขาดแคลนสินค้าต่างประเทศ เช่น น้ำมัน ไปจนถึงปุ๋ยหรือสินค้าที่ช่วยในการเพาะปลูกต่างๆ เมื่อขาดปุ๋ยหรือดิน ผลผลิตทางการเกษตรของศรีลังกาก็ยิ่งแย่ อุปทานหายแต่อุปสงค์ค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ค่าอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคราคาแพงขึ้นไปเป็นลูกโซ่
สถานการณ์ยิ่งซ้ำร้ายเมื่อรัฐบาลเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่จำเป็น เช่น ท่าเรือน้ำลึกที่ฮัมบันโตตา ซึ่งเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นกับดักเงินกู้ของจีน และเน้นเรื่องการรักษาอำนาจทางการเมืองเป็นสำคัญ ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมต่างๆ มากมาย เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชาติ การละเมิดสิทธิมนุษชน ปัญหาเสรีภาพของสื่อ มีการเรียกร้องเดินขบวนให้ตระกูลราชปักษาวางมือทางการเมืองแต่พวกเขาก็ไม่ได้ปล่อยอำนาจไปง่ายๆ
เมื่อผนวกกับปัญหาค่าครองชีพก่อให้เกิดความโกรธเดือดดาลของประชาชนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า เมื่อปัญหาทุกอย่างสุกงอม เด็กไม่มีกระดาษสำหรับสอบ ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ ตลอดจนพลังงานเชื้อเพลิงขาดแคลน ประชาชนจึงประท้วงและบุกเข้าไปยังที่พักอาศัยของประธานธิบดีและรัฐมนตรีในที่สุด
แม้ว่าศรีลังกาจะได้รับเงินกู้จากสถาบันทางการเงินต่างๆ ทั่วโลกมาบรรเทาปัญหาไม่มากก็น้อย แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่นิ่ง และนโยบายทางเศรษฐกิจยังเป็นเช่นเดิม ท้ายที่สุดเงินกู้ช่วยเหลือดังกล่าวอาจไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ยังยืนก็เป็นได้
Ref: https://www.bbc.com/news/world-61028138
Ref: https://www.bbc.com/news/world-asia-61411532
Ref: https://www.bbc.com/news/world-asia-62108597
Ref: https://www.nytimes.com/2022/07/09/world/asia/sri-lanka-gotabaya-rajapaksa.html