6 มูลเหตุ ที่ทำให้เกิดศาสนา
ศาสนา คือคำสอนที่ศาสดา นำมาเผยแแผ่ สั่งสอนให้มนุษย์ละเว้นจากความชั่ว กระทำแต่ความดี ให้ยึดถือปฏิบัติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นบ่อเกิดแห่งความสามัคคี เป็นเครื่องดับความเร่าร้อนจิตใจ เป็นบ่อเกิดแห่งจริยธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และเป็นดวงประทีปส่องโลกที่มืดมิดด้วยอวิชชา (ความไม่รู้) ให้สว่างไสวด้วยวิชชา (ความรู้)
มูลเหตุแห่งการเกิดศาสนา ศาสนา มีมูลเหตุเกิดหลายอย่าง หลายประการ ตามความเชื่อของประชาชนแต่ละกลุ่ม และสภาพแวดล้อมของแต่ละชุมชน ที่โน้มน้าวให้เกิดความเชื่อเช่นนั้น เมื่อสรุปพอจะกล่าวได้ว่ามี 6 ประการคือ
1.เกิดจากความไม่รู้ (อวิชชา) เช่น ผู้ที่ไม่รู้เหตุผลทางดาราศาสตร์ เมื่อเกิดจันทรุปราคา และสุริยุปราคาขึ้นเพราะการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ประชาชนที่ไม่รู้เหตุผลก็เรียกว่า เกิดราหูอมจันทร์ จึงยิงปืน จุดประทัด หรือตีเกราะ เคาะไม้ เพื่อให้ราหูตกใจแล้วจะได้หนีไป ผู้ที่ไม่รู้เหตุผลทางชีวะวิทยา พอเดินผ่านต้นไม้ใหญ่ ก็จะยกมือไหว้โดยชื่อว่า ต้นไม้นั้นเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้า บางคนเดินผ่านภูเขาใหญ่หรือภูเขาที่มีหน้าผารูปแปลก ๆ ก็แสดงความเคารพภูเขานั้น โดยถือว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ ผู้ที่ไม่รู้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเห็นรุ้งกินน้ำ ก็เข้าใจว่า เกิดจากอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้เกิดขึ้น จึงทำนายไปตามความเข้าใจของตนว่า รุ้งกินน้ำทางทิศเหนือ ฝนจะตกชุก รุ้งกินน้ำทางทิศใต้ ฝนจะแล้ง เป็นต้น ความไม่รู้เหตุผลดังกล่าว ทำให้คนยึดถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก
2.เกิดจากความกลัว บางคน เมื่อเห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ลมพายุ ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว มีดาวหางปรากฏขึ้น ก็เกิดความกลัวจึงหาที่พึ่ง โดยคิดว่าปรากฏการณ์เหล่านั้นมีเทพเจ้าบันดาลให้เกิดขึ้น จึงได้อ้อนวอน บนบานศาลกล่าวให้เทพเจ้าเหล่านั้น โปรดระงับสิ่งเหล่านั้นเสีย
3.เกิดจากความจงรักภักดี คือ เชื่อในสิ่งนั้นว่ามีอำนาจเหนือคน หรือเชื่อในบุคคลว่ามีความดีที่เชื่อถือได้ จึงเกิดความเลื่อมใสในสิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นว่า มีศักดิ์ศรีหรือมีจริยาวัตร ที่ควรแก่การยกย่อง เมื่อมีความเชื่อความเลื่อมใส ความเคารพ ความรักและความนับถือแล้ว การกราบไหว้บูชา การเชื่อและปฏิบัติตามคำแนะนำก็จะเกิดขึ้นตามมา จึงกลายเป็นศาสนา
4.เกิดจากความอยากรู้เหตุผล คนที่อยากรู้เหตุผลนั้น จะต้องคิดค้นหาเหตุผลที่แท้จริงว่า สิ่งนั้นเกิดขึ้นมาจากอะไร เช่น เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บและคนตาย ทรงพยายามที่จะแก้ทุกทั้ง 3 อย่างโดยทรงดำริว่า ในโลกนี้ มีสิ่งที่เป็นคู่ ๆ ตรงกันเสมอ เช่น มีมืดแล้วก็มีสว่าง มีร้อนแล้วก็มีเย็น ฉะนั้นเมื่อ มีแก่ก็ต้องไม่มีแก่ได้ มีเจ็บก็ต้องไม่มีเจ็บได้ มีตายต้องไม่มีตายได้ ความอยากรู้เหตุผล ก็เป็นเหตุให้เกิดศาสนาได้
5.เกิดจากอิทธิพลของคนสำคัญ การเคารพต่อวิญญาณของบรรพบุรุษ ที่เป็นบุคคลสำคัญก็ดี การเคารพบุคคลสำคัญทางวรรณคดี เช่น พระรามและพระกฤษณะ ในเรื่องมหาภารตะ ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย พราหมณ์ต้องการให้พระรามและพระกฤษณะเข้ามาเป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดู เพื่อต้องการให้ประชาชนนับถือศาสนาฮินดูมากยิ่งขึ้น จึงได้ประกาศแก่ประชาชนว่า พระรามและพระกฤษณะก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือพระวิษณุได้อวตารลงมานั่นเอง ประชาชนได้ทราบเช่นนี้ก็ไม่ว่าอะไร เพราะเขานับถือของเขาอยู่แล้ว ก็ยิ่งเป็นความดียิ่ง ๆ ขึ้น การเคารพนับถือวิญญาณของบุคคลสำคัญ ถือว่าเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เกิดศาสนาขึ้น
6.เกิดจากความต้องการความสงบสขของสังคม การอยู่ร่วมกันของมนุษย์เป็นกลุ่มเป็นสังคมนั้น สิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับสมาชิกของสังคมคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข อย่างสงบเรียบร้อย ทุกคนสามารถหาความสุขความสำเร็จ ความปลอดภัยได้ ตามสมควรแก่อัตภาพ การที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ สมาชิกของสังคมจะต้องอยู่ในกฎเกณฑ์และเป็นระเบียบแบบแผน ธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ของสังคมศาสนาจึงมีความสำคัญมากในการช่วยกล่อมเกลา ให้โน้มน้าวจิตใจและสร้างสำนึกทางศีลธรรมต่อสังคมได้ดี คนจึงต้องการศาสนา