เพราะอะไร จึงนิยมให้กรวดน้ำ ขณะพระสวดบท ยะถา วาริวะหา ?
เป็นที่สังเกตว่า ทุกครั้งที่เราไปทำบุญที่วัด หรือที่อื่น ๆ ช่วงท้าย พระสงฆ์จะอนุโมทนาด้วยบท ยะถา... และตามด้วยบท สัพพี... ขณะที่พระสงฆ์ (ประธานสงฆ์) สวดขึ้นบท ยะถา จะนิยมให้ทายก ทายิกา หรือเจ้าภาพกรวดน้ำ เพราะอะไรจึงต้องให้กรวดน้ำช่วงนี้
การกรวดน้ำ เป็นประเพณีนิยมที่ถือปฏิบัติกันมาช้านาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตาย หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จะนิยมกรวดน้ำอุทิศไปให้ การกรวดน้ำ เป็นสื่อแทนจิต ที่อธิษฐานพร้อมกล่าวคำว่า อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร แปลว่า ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จ แก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข หรืออธิษฐานว่า อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย แปลว่า ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข ขณะที่พระสงฆ์ (ประธานสงฆ์) กำลังสวดบท ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปปะกัปปะติ อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิโชติระโส ยะถา แปลว่า "ห่วงน้ำที่เต็ม ย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ ฉันใด ทานที่ท่านที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ฉันนั้น ขออิฐผลที่ท่านปรารถนาแล้ว ตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยฉับพลัน ขอความดำริทั้งปวง จงบริบูรณ์เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ และเหมือนแก้วมณีโชติ อันสว่างไสว เทอญ" พอพระสงฆ์ (ประธานสงฆ์) สวดจบว่า .....มณิโชติระโส ยะถา ผู้กรวดน้ำ ก็เทนำ้ให้หมด แล้วประนมมือรับพรต่อไป
ในขณะอธิษฐานจิตนั้น ถ้าไม่มีน้ำกรวด หรือหาไม่ทัน ก็อธิษฐานจิตอย่างเดียวก็ได้ แต่ควรจะอธิษฐานในขณะที่พระสงฆ์สวดบท ยะถา วาริวะหา.... เพื่อให้สอดคล้องกันในเวลาเดียวกัน และใเพื่อให้การกรวดน้ำ อธิษฐานจิตมีพลัง