เชื่อหรือไม่ ชายไทยกลัวเมียมาตั้งแต่ยุคกรุงศรี
จากหนังสือ “ประเทศไทยในตำนานจีน” แปลจากต้นฉบับภาษาจีนที่เขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง ในรัชสมัยของฮ่องเต้เฉียนหลงซึ่งครองแผ่นดินจีนอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2278-2339 (ค.ศ.1735-1796) ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย
เป็นหลักฐานชั้นต้นที่ราชวงศ์จีนบันทึกมุมมองที่มีต่อเสี้ยมหลอก๊ก (สยาม) ทั้งเรื่องวิถีชีวิต การกิน-อยู่ วัฒนธรรม การสร้างบ้านเรือน รวมไปถึงธรรมเนียมปฏิบัติ ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า
“ฤดูปีเดือนในเสี้ยมหลอก๊กไม่เที่ยง พื้นแผ่นดินก็เปียกแฉะ ชาวชนต้องอยู่เรือนเป็นหอสูง หลังคามุงด้วยไม้หมากเอาหวายผูก ที่มุงด้วยกระเบื้องก็มี เครื่องใช้ไม่มีโต๊ะ เก้าอี้และม้านั่ง ใช้แต่พรมกับเสื่อหวายปูพื้น ประชาชนนับถือเซกก่า (พุทธศาสนา) ผู้ชายบวชเป็นเจง (พระภิกษุ) ผู้หญิงบวชเป็นหนี (นางชี) ไปอยู่ตามวัด ผู้ที่มียศศักดิ์และมั่งมีนั้น เคารพหุด (นับถือพระภิกษุที่สำเร็จ) มีเงินทองถึงร้อยก็ทำทานกึ่งหนึ่งด้วยไม่มีความเสียดาย ขุนนางและราษฎรที่มีเงินจะใช้จ่ายตามลำพังไม่ได้ ต้องส่งให้เมืองหลวง ให้เจ้าพนักงานหลอมเป็นเมล็ดเอาเหล็กตีมีตัวอักษรอยู่ข้างบน การใช้จ่ายเงินทองสุดแล้วแต่ผู้หญิง ด้วยผู้หญิงมีสติปัญญา ผู้ชายที่เป็นสามีก็ต้องเชื่อฟัง”
ที่น่าสนใจคือ ความผสานวัฒนธรรมพุทธ พราหมณ์ ผี ของสังคมไทย เป็นที่ทราบกันดีว่าราชสำนักและชนชั้นสูงในอยุธยาใช้ธรรมเนียมปฏิบัติแบบพราหมณ์(ชายเป็นใหญ่) ที่สตรีผู้เป็นบุตรและภรรยาต้องอยู่ใต้ปกครองผู้เป็นบุรุษ แต่ทางฝั่งชาวบ้านไพร่เสรีชนยังคงวิถีชีวิตและทัศนคติแบบสังคมมาตาธิปไตย อันเป็นพื้นวัฒนธรรมเดิมของภูมิภาคนี้