ธงกฐิน 4 ชนิด สื่อความหมายอะไรบ้าง ?
เทศกาลทอดกฐินปี 2565 เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 และก็จะไปสิ้นสุดในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 (ตรงกับวันลอยกระทง) เป็นที่สังเกตว่า อุปกรณ์ที่ใช้เป็นองค์ประกอบของกฐิน นอกจากผ้ากฐินแล้ว ยังมีบริวารกฐิน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย (เงิน) ไทยธรรม อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ของสงฆ์ พร้อมทั้งเครื่องครัว ผลไม้หลากชนิด ต้นกล้วย ต้นอ้อย และ ธงกฐิน ซึ่งเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ 4 ชนิด คือ ธงจระเข้ ธงตะขาบ ธงนางมัจฉา และธงเต่า
ตอบคำถามที่ว่า ธงกฐิน 4 ชนิด สื่อความหมายอะไรบ้าง ? คำตอบมีหลายนัย ในที่นี้จะตอบเพียงบางนัย
1.ธงจระเข้คาบดอกบัว หมายถึงความโลภ (ปากใหญ่ กินไม่อิ่ม) โดยปกติแล้ว จระเข้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ในบางช่วงขึ้นมานอนอ้าปากอยู่บนบก ให้แมลงวันเข้ามาตอมอยู่ในปากของมัน แมลงวันเข้าไปรวมกันอยู่หลายตัวเข้า จึงได้งับปากเอาแมลงเป็นอาหาร ท่านได้เปรียบเทียบถึงคนเรา เมื่อมีความโลภ ไม่มีความรู้สึกสำนึกชั่วดี ความถูกต้องหรือไม่ มีแต่จะเอาให้ได้ท่าเดียว โดยไม่คำนึงว่าที่ได้มานั้นมีความสกปรกแปดเปื้อนด้วยความไม่ดีหรือไม่ ดังนั้น ธงรูปจระเข้ ท่านจึงได้เปรียบเหมือนกับคนโลกที่มันทำให้คนกอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่มีช่องทางหรือโอกาส
2.ธงตะขาบ หมายถึงความโกรธซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพสัตว์มีพิษพิษที่เผ็ดร้อนเหมือนความโกรธที่แผดเผาจิตใจคน
3.ธงนางมัจฉา หมายถึงความหลงซึ่งสะท้อนถึงเสน่ห์แห่งความงามที่ชวนให้หลงใหลเคลิบเคลิ้ม
4.ธงเต่า หมายถึงสติ ที่คอยระวังรักษาอายตนะทั้งหก ซึ่งสะท้องถึงเต่าที่มีกระดองแข็งคอยคุ้มกัน ป้องกันภัย เมื่อรู้ว่ามีภัยก็จะหดอวัยวะซ่อนในกระดองทันที
ธงจระเข้ ใช้ประดับในการแห่ และใช้ประดับวัดที่ทอดกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ญาติโยมที่เดินผ่านไปมาเห็นเข้า ก็จะยกมือไหว้อนุโมทนาสาธุ
ธงตะขาบ ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้มีคนมาจองกฐินแล้ว ให้ผู้จะมาปวารณาทอดกฐินผ่านไปวัดอื่นเลย ไม่ต้องเสียเวลามาถาม
ธงนางมัจฉา ใช้ประดับงานพิธีถวายผ้ากฐิน เป็นตัวแทนหญิงสาวตามความเชื่อว่า อานิสงส์จากการถวายผ้าแก่ภิกษุสงฆ์จะมีรูปงาม
ธงเต่า ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว