การถวายเงินแก่พระสงฆ์ไม่น่าเป็นบาป ? การหันหลังให้วัดต่างหากน่าจะเป็นบาปกว่า ?
ปัจจัย 4 คือ ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรก เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตทุกชีวิต ทั้งบรรพชิตและฆราวาสอย่างเรา ๆ ทีนี้ถ้าจะถามว่า เงินเป็นปัจจัย 4 ไหม ตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า เงิน ก็คือตัวหลักของการจัดหาปัจจัย 4 ถ้าไม่มีเงิน ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย รวมทั้งยารักษาโรคก็จะไม่มี สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเงินเป็นหลักในการจัดหาและซื้อมา
ถามว่า การถวายเงินแก่พระสงฆ์ ได้บุญ หรือได้บาป ? คำตอบ ต้องแยกประเด็นตอบ อย่าตอบเพียงประเด็นเดียว ต้องแยกประเด็นว่าถวายแบบไหน ยังไง เพื่ออะไร การที่พระภิกษุที่จับเงิน ถือเงินด้วยจิตอยากได้เป็นเจ้าของ ต้อง อาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ ถือว่าเป็นบาป ตามพุทธบัญญัติ หรือตามพระวินัยของพระภิกษุ เมื่อพระต้องอาบัติ เป็นบาป ผู้ถวายเงิน ทำให้พระต้องอาบัติ ก็ต้องเป็นบาปด้วย นี้คือประเด็นหลัก
การถวายเงินแก่พระภิกษุ ที่พระก็ไม่ต้องอาบัติ ผู้ถวายก็ได้บุญไม่เป็นบาป มีวิธีที่ถือปฏิบัติกันมาคือ ถวายด้วยการกล่าวปวารณาว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้า ขอน้อมถวายปัจจัยจำนวน 5,000 บาท ซึ่งปัจจัยจำนวนนี้ ได้มอบไว้กับไวยาวัจกรของท่านแล้ว หากท่านประสงค์สิ่งหนึ่ง สิ่งใด โปรดเรียกร้องกับไวยาวัจกรนั้นเทอญ แล้วก็มอบปัจจัย (เงิน) จำนวนนั้นให้ไวยาวัจกร (คนรับใช้พระ) ถวายวิธีนี้ พระภิกษุ ไม่ต้องอาบัติ โยมผู้ถวายก็ไม่เป็นบาป แต่จะเป็นบุญที่ได้อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ เป็นการถวาย สัปปายะ ความสะดวกแก่พระสงฆ์ เพราะค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโดยสารรถ ค่าโทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งค่ารักษาตัวในโรงพยาบาล (รพ.เอกชน) ต้องใช้เงินทั้งนั้น
พระเถระผู้ใหญ่ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง หรือ พระนักพัฒนา ที่ถือเคร่งครัดพระวินัยในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ท่านจะใช้วิธีปวารณา เราจึงเห็นอยู่เป็นประจำที่งานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ชื่อดัง จะได้ปัจจัย (เงิน) จำนวนมาก พระไม่ต้องอาบัติ เจ้าภาพผู้ถวายก็ได้บุญกุศลมหาศาล
ส่วนผู้ที่ไม่รู้วิธี กลัวแต่ว่า พระจะต้องอาบัติ ก็เลยไม่ถวายเงิน บางคนต่อว่าพระสงฆ์ในทางเสียหาย ไม่อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ หันหลังให้วัด ซึ่งน่าจะเป็นบาป มากกว่าบุญ