หลังจากใส่บาตรเสร็จ พระสงฆ์ยืนให้พร โยมควรยืน หรือนั่งรับพร ?
การให้พรของพระ คล้ายกับการกล่าวขอบคุณ ซึ่งเป็นธรรมดาของพระสงฆ์ในฐานะเป็น ปฏิคาหก ( ผู้รับ ) ก็ต้องแสดงน้ำใจแก่ ทายกทายิกา (ผู้ให้) ด้วยการให้พร การให้พร มักใช้ภาษาบาลีว่า อะภิวาทะนะสีลิสสะนิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง แปลว่า ธรรม 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่ผู้นิยมกราบไหว้ ผู้อ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลผู้อาวุโสกว่า ซึ่งประเด็นนี้ พระสงฆ์ผู้ออกรับบิณฑบาต จะเคยแปล หรือแปลได้หรือไม่ก็ไม่รู้ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงธรรมให้โยมฟัง ในขณะที่พระยืนแสดงธรรม โยมส่วนมากจะนั่งฟัง จึงวกเข้าสู่ประเด็นคำถามว่า หลักจากใส่บาตรเสร็จ พระสงฆ์ยืนให้พร โยมควรยืน หรือนั่งรับพร ?
ในพระวินัยของพระสงฆ์ ตอนว่าด้วยเสขิยวัตร (วัตรที่ควรศึกษาและปฏิบัติ) หมวด ธรรมเทสนาปฏิสังยุต มี 16 สิกขาบท ข้อที่ 14 ว่า ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ที่นั่งอยู่ แต่ภิกษุยื่นอยู่ ถ้าขืนแสดง ต้อง อาบัติทุกกฏ แนวให้เลือกปฏิบัติ โดยที่พระภิกษุไม่ต้องอาบัติ เมื่อพระยืนให้พรบทนนี้ นั่นคือให้โยมยืนรับพร หรือไม่ก็ให้หาเก้าอี้มาให้พระนั่งให้พร แต่ในการปฏิบัติจริง พระท่านคงไม่เสียเวลามานั่งเก้าอี้ เพราะท่านต้องไปโปรดญาติโยมหลายตรอกซอกซอย
ส่วนพระป่า สายกัมมัฏฐาน ผู้เคร่งครัดในพระวินัย เวลาท่านออกรับบิณฑบาต ท่านจะไม่ให้พร กลัวจะต้องอาบัติทุกกฏ เพราะละเมิดสิกขาบทข้อดังกล่าว ถ้าโยมอยากได้พร ต้องตามไปที่วัด พระก็จะได้นั่งให้พร หรือมีเทศนาย่อๆ โยมก็จะได้สบายใจ ที่ไม่ต้องทำให้พระต้องอาบัติ
สรุป การแสดงธรรม ต้องอยู่ในอิริยาบถที่สมควร ทั้งผู้แสดง และผู้ฟัง การที่พระยืนให้พร หรือยืนแสดงธรรม แต่ผู้ฟังนั่งรับพร หรือฟังธรรม ชื่อว่าไม่เคารพพระธรรม