โฮปเวลล์ : ที่สุดแห่งความล้มเหลวของหน่วยงานรัฐ
ถ้าจะว่ากันตามข้อมูลหลักฐานที่มีบันทึกไว้ ที่ผ่านมาก็มีโครงการใหญ่ๆอยู่หลายโครงการของไทย ที่ 'ล้มเหลวไม่เป็นท่า' แม้จะมีการวางแผนอย่างดี ได้รับการสนับสนุนทั้งเงินทุนและความช่วยเหลือทางกฎหมาย หลายโครงการที่ไปไม่รอดเหล่านี้ นานวันเข้าก็จางหายไปจากความทรงจำ หายไปจากหน้าสื่อที่คนทั่วๆไปจะได้เห็น แต่ไม่ใช่กับโครงการ 'โฮปเวลล์' โครงการใหญ่ที่ล้มแล้วแต่ยังทิ้งซากความเสียหายไว้จนปัจจุบัน
โฮปเวลล์ หรือ 'โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร' เป็นอดีตโครงการขนาดใหญ่ที่ได้เซ็นสัญญาก่อสร้างเมื่อปี 2533 ในสมัยที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี โครงการประกอบด้วยโครงสร้างทางรถไฟแบบยกระดับ สร้างคร่อมแนวทางรถไฟเดิม และด้านบนสุดจะเป็นทางด่วน มีมูลค่าโครงการ 8 หมื่นล้านบาท และมีแผนว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ปี 2538 แต่หลังจากนั้นโครงการก็ประสบกับปัญหามากมายจนต้องถูกยกเลิกสัญญา ในวันที่ 20 มกราคม 2541 ในสมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
หลังจากนั้น ในช่วงปลายปี 2547 บริษัทโฮปเวลล์ จึงได้เริ่มต้นการฟ้อง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ตามด้วยการฟ้องกลับจากฝั่งกระทรวงคมนาคม เกิดเป็นมหากาพย์การคดีความครั้งใหญ่ระหว่างภาครัฐและเอกชน จนครั้งล่าสุดในเดือนเมษายน 2562 ที่ศาลพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ เป็นจำนวนเงินถึง 25,700 ล้านบาท แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว และยังอยู่ในกระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายกันต่อไป
ความผิดพลาดครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ที่มีเดิมพันเป็นกระเป๋าเงินของคนทั้งประเทศ และชื่อเสียงของภาครัฐต่อสายตานักลงทุน เสียหายหลายหมื่นล้านของจริง