คนละครึ่งกินงบไปแล้วมากกว่าสองแสนล้านบาท
ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ที่กินระยะเวลานานหลายปี
มีคนไทยที่ได้รับผลกระทบหลายสิบล้านคน
โดยทางภาครัฐเองก็ออกหลายมาตราการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา
ให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
โดยเฉพาะโครงการ 'คนละครึ่ง' ที่มีมาแล้วหลายเฟส
วันนี้เราจะมาดูข้อมูลกันว่า ที่ผ่านมา โครงการนี้ใช้เม็ดเงินไปมากแค่ไหนแล้ว?
การดำเนินโครงการคนละครึ่ง ตั้งแต่เฟส 1 ถึงเฟส 5 มีข้อมูลดังนี้
1. โครงการคนละครึ่งเฟส 1 ใช้กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท
เปิดให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิ 10 ล้านคน รับเงิน 3,000 บาท เริ่มเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2563
2. โครงการคนละครึ่งเฟส 2 ใช้กรอบวงเงิน 22,500 ล้านบาท
รับสิทธิ 15 ล้านคน โดยแบ่งเป็นกลุ่มเดิมจากคนละครึ่ง เฟสแรกรับเงิน 500 บาท
และเปิดลงทะเบียนสำหรับประชาชนรายใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการอีก 5 ล้านคน
รับเงิน 3,500 ล้านบาท เริ่มเดือน ม.ค.-มี.ค. 2564
3. โครงการคนละครึ่งเฟส 3 ใช้กรอบวงเงิน 93,000 ล้านบาท รับสิทธิ 31 ล้านคน
รับเงิน 3,000 บาท เริ่มเดือนก.ค.-ธ.ค. 2564 หลังจากนั้นเดือน พ.ย. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.)
ได้อนุมัติวงเงินเพิ่มเติมให้อีก 1,500 บาท เริ่มเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2564 กรอบวงเงินรวม 42,000 ล้านบาท
ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 28 ล้านคน
4. โครงการคนละครึ่งเฟส 4 ใช้กรอบวงเงิน 34,800 ล้านบาท
รับสิทธิ 29 ล้านคน รับเงิน 1,200 บาท เริ่มเดือน ก.พ.-เม.ย. 2565
5. โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ใช้กรอบวงเงิน 21,200 ล้านบาท
จำนวนกลุ่มเป้าหมายที่รับสิทธิ 26.5 ล้านคน มีการจ่ายเงิน 1 รอบ รวมคนละ 800 บาทต่อคน
สรุป โครงการคนละครึ่งเฟส 1-5 รัฐบาลใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ รวม 2 ฉบับ
กรอบวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ไปด้วยกันทั้งสิ้น 234,500 ล้านบาท
เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนในช่วงโควิด-19 และเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ
จนมาถึงล่าสุดช่วยแบ่งเบาค่าครองชีพจากราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน