เหรียญเล็กที่สุดที่ไม่คุ้นหน้าคุ้นตา
ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก
โดยเฉพาะโลกของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว
สะดวกและปลอดภัย แถมยังแทบจะไร้ข้อจำกัดในการใช้งาน
เมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับการค้า
การซื้อขายหรือลงทุน ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้อย่างชัดเจน
ด้วยความสะดวกรวดเร็วนี้เอง ทำให้คนหันไปใช้บริการทางการเงินบนโลกออนไลน์กันมากขึ้น
สัดส่วนผู้ใช้ 'เงินจริง' ในรูปแบบธนบัตรหรือเหรียญจึงค่อยๆลดลง
ธนบัตรหรือเหรียญบางอย่างที่แทบไม่ค่อยได้ใช้หรือพบเห็นกันอยู่แล้ว
จึงแทบจะถูกลืมเลือนไปจากการรับรู้ของผู้คน
หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเหรียญแบบนี้อยู่ และมีใช้กันจนถึงทุกวันนี้ด้วย
และเหรียญที่เชื่อว่าคนไทยน้อยคนจะเคยได้เห็นหรือเคยสัมผัส
ก้คือเหรียญหน่วยย่อยที่สุดอย่างเหรียญ 1, 5 และ 10 สตางค์
เพราะลำพังแค่เหรียญ 25 หรือ 50 สตางค์ที่พอจะได้เห็นเป็นเงินทอนจากร้านสะดวกซื้อ
เราก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจหรือจะหยิบมันมาใช้เลยใช่มั๊ยล่ะ
แล้วเหรียญที่เป็นหน่วยย่อยขนาดนั้นจะผลิตขึ้นมาให้เปลืองทำไม?
จริงๆแล้วเหรียญประเภท 1 / 5 / 10 สตางค์นี้
ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้งานใน 'ธุรกิจการธนาคาร' เท่านั้น
อย่างเช่นกรณีที่เราต้องการถอนเงินทั้งหมดจากบัญชีของเรา
เพื่อปิดบัญชีนั้น แล้วตัวเลขในบัญชีเราดันมีเศษสตางค์ไม่ลงท้ายด้วย .00 / .25 / .50 หรือ .75
ที่จะสามารถจ่ายด้วยเหรียญทั่วๆไปได้ ก็จำเป็นจะต้องใช้งานเหรียญหน่วยย่อยนี้เพื่อปิดบัญชีให้ลงตัว
- เหรียญ 1 สตางค์ รุ่นปัจจุบัน มีน้ำหนักเหรียญ 0.5 กรัม
ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ด้านหลังเป็นภาพเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย
- เหรียญ 5 สตางค์ มีน้ำหนักเหรียญ 0.6 กรัม
ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ด้านหลังเป็นภาพของพระปฐมเจดีย์
- เหรียญ 10 สตางค์ มีน้ำหนักเหรียญ 0.8 กรัม
ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ด้านหลังเป็นภาพเจดีย์วัดพระธาตุเชิงชุม