เป็นเด็กตลอดไป!!! Axolotl มหาอำนาจแห่งการฟื้นฟูและเยาว์วัยตลอดกาล
Axolotl (Ambystoma mexicanum) เป็นซาลาแมนเดอร์สายพันธุ์หนึ่งที่ทำให้โลกวิทยาศาสตร์ต้องตกตะลึงด้วยความสามารถอันเหลือเชื่อในการสร้างส่วนต่างๆ ของร่างกายที่หายไปและคงลักษณะที่อ่อนเยาว์ไว้ตลอดชีวิต เรามาทำความรู้จักกับ Axolotl และความสามารอันเหลือเชื่อที่ทำให้น้องแตกต่างจากซาลาแมนเดอร์ตัวอื่นๆ หรือสัตว์มีกระดูสันหลังทุกชนิดครับ
สุดยอดซาลาแมนเดอร์ที่มีเยาว์วัยตลอดไป หรืองอกอวัยวะใหม่ได้เรื่อยๆ
น้อง Axolotl เป็นซาลาแมนเดอร์น้ำจืดขนาดเล็กที่ใช้ชีวิตใต้น้ำตลอดชีวิต พบได้ที่ทะเลสาบหรือพื้นที่ชุ่มน้ำของกรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโกเท่านั้น จุดเด่นของ Axolotl คือมีพู่เหงือกที่ติดตัวออกมาตั้งแต่ฟักออกจากไข่และจะคงอยู่ไปตลอดชีวิต ชื่อของน้องนั้นมาจากชื่อของเทพเจ้า Xolotl ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งไฟและสายฟ้าและชี้นำวิญญาณคนตายของชาว Aztec
หนึ่งในความสามารถที่น่าทึ่งที่สุดของ Axolotl คือพลังในการสร้างแขนขาหรืออวัยวะที่สูญเสียไปให้งอกกลับมาใหม่อีกครั้ง เมื่อ Axolotl สูญเสียแขนขาไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เซลล์ในบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บจะปรับเปลี่ยนตัวเซลล์ให้เข้าสู่สภาพดั้งเดิมเพื่อเตรียมพร้อมจะแปลงสภาพ จากนั้นเซลล์เหล่านี้จะแบ่งตัวและแยกความแตกต่างออกเป็นเซลล์ประเภทต่างๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างอวัยวะที่ขาดหายไป เช่น ไปเป็นกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นประสาท และหลอดเลือด หรือแม้กระทั่งปอด หรือหัวใจ กระบวนการนี้เรียกว่า Epimorphic Regeneration และเป็นสิ่งที่มีเพียงสัตว์มีกระดูกสันหลังแค่หยิบมือสามารถทำได้
นอกจากความสามารถในการสร้างเซลล์ใหม่แล้ว Axolotl ยังสามารถคงลักษณะที่อ่อนเยาว์ไว้ตลอดชีวิต (Neoteny) ในขณะที่ซาลาแมนเดอร์ตัวอื่นๆ ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (Metamorphosis) และสูญเสียเหงือกและครีบเมื่อโตเต็มวัย แต่ Axolotl จะรักษาเหงือกและครีบของมันไว้ตลอดชีวิต สิ่งนี้ทำให้พวกน้องสามารถผสมพันธุ์ได้ในขณะที่ยังอยู่ในร่างตัวอ่อน และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปร่างเพื่อกลายเป็นตัวเต็มวัยแล้วอาศัยบนบกเพื่อซาลาแมนเดอร์พันธ์อื่น
การวิจัยและความเสี่ยงที่จะสูญพันธ์
ความสามารถในการสร้างใหม่และการสร้างเซลล์ใหม่ของ Axolotl ทำให้น้องเป็นตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่สำคัญสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและชีววิทยาพัฒนาการ เป้าหมายหลักของนักวิจัยคือไขความลับว่าน้องสามารถสร้างอวัยวะส่วนที่สูญเสียไปได้อย่างไรและคงลักษณะที่อ่อนเยาว์ไว้ได้เพราะอะไร โดยมีเป้าหมายสูงสุดในต่อยอดองค์ความรู้นี้ไปสู่การรักษาแบบใหม่สำหรับการบาดเจ็บของมนุษย์และโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียเนื้อเยื่อหรือการเสื่อมสภาพในที่สุด
น่าเสียดายที่ Axolotl ยังเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ตัว Axolotl สามารถพบได้ในแหล่งน้ำในเม็กซิโกเท่านั้น และเมื่อความเจริญถาโถมเข้ามา การพัฒนาที่ดินหรือการทำลายธรรมชาตินำไปสู่การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของน้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้การนำสิ่งมีชีวิตจากต่างประเทศเข้ามาเป็นเหตุให้น้อง Axolotl โดนล่าทำลายเป็นอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์คาดว่า Axolotl ในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจจะมีน้อยกว่า 100 ตัว ซึ่งหากพวกเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์น้อง ในอนาคตเราอาจได้ศึกษาน้องจากตัวตำราหรือวิดีโอเท่านั้น