โรงเรียนไทยที่มีหลักสูตรสุดแตกต่างไม่ซ้ำใคร
การศึกษาในระบบโรงเรียน ยังถือเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน
ที่เด็กๆและเยาวชนจำเป็นต้องได้รับ เพื่อการมีพื้นฐานและประสบการณ์ที่ดี
ก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่จะได้ใช้ชีวิตในสังคมต่อไป ปัจจุบันประเทศไทย
มีโรงเรียนอยู่มากมายหลายประเภท ซึ่งมีแนวทางการสอน
และหลักสูตรที่แตกต่างกันออกไป โดยโรงเรียนประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจ
ทั้งจากนักเรียนและผู้ปกครองมากที่สุด ก็คือ 'โรงเรียนสาธิต' นั่นเอง
โรงเรียนสาธิต คือโรงเรียนประถมและมัธยมในกำกับของมหาวิทยาลัยต่างๆ
เพื่อให้เป็นสถานฝึกปฏิบัติการทางการศึกษา และเป็นสถานที่ฝึกการปฏิบัติงานของนักศึกษา
หรือเด็กฝึกงานเพื่อที่จะเป็นคุณครูในอนาคตหรือเพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาวิจัยงานต่างๆ สำหรับโรงเรียนสาธิตในประเทศไทยนั้น
จะเป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การดูแลของคณะศึกษาศาสตร์หรือคณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
เพื่อให้เป็นสถานฝึกปฏิบัติการทางการศึกษา และเป็นสถานที่ฝึกการปฏิบัติงานของคณะศึกษาศาสตร์หรือคณะครุศาสตร์
ก่อนที่นิสิตนักศึกษาจะสำเร็จการศึกษา โดยหนึ่งในโรงเรียนสาธิตที่มีมากมายในไทยนั้น
มีหนึ่งโรงเรียนที่โดดเด่นเป็นพิเศษ และถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในเวลานี้
ก็คือ 'โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์'
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์
ตั้งอยู่ที่หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบล คลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง ปทุมธานี
เป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งขึ้นได้ไม่นาน และมีแนวทางหลักสูตรที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปอย่างชัดเจน
รวมไปถึงกิจกรรมและข้อบังคับต่างๆด้วย อย่างเช่นการไม่บังคับใส่เครื่องแบบ ทรงผม
หรือรายชื่อวิชาสอนที่ฟังดูไม่คุ้นหู ไม่มีการสอนวิชาศาสนาแบบระบุจำเพาะเจาะจง
ไม่มีการเข้าแถวเคารพธงในตอนเช้า และที่โด่งดังที่สุด ก็คือที่โรงเรียนนี้ไม่มีการสอบเก็บคะแนน
แล้วนำไปตัดเกรดแบบปกติที่เราเคยเจอ โดยเรื่องราวความแตกต่างแบบสิ้นเชิงนี้เอง
ที่ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลต่อจุดยืนของโรงเรียน จนเรื่องราวบานปลาย
ไปจนถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรีของไทยต้องออกมาประกาศให้จับตาและตรวจสอบหลักสูตรของโรงเรียนนี้
ไม่ว่าจะในแง่บวกหรือลบ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์
ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในเรื่องของ 'ความหลากหลายทางการศึกษา'
ที่ประเทศไทยของเรายังขาดและต้องได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน