ดาวเทียมดวงแรกที่มาจากโรงเรียนมัธยมไทย
การสร้างดาวเทียม ถือเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนสูง
ต้องใช้เทคโนโลยีและความรู้มากมาย ผู้ที่จะสามารถผลิตดาวเทียม
ที่สามารถใช้งานได้จริง จึงมีอยู่เพียงไม่กี่หน่วยงานเท่านั้น
แต่ในช่วงหลังๆที่เทคโนโลยีเริ่มพัฒนา ทำให้เริ่มมีหน่วยงาน
หรือองค์กรต่างๆสามารถพัฒนาหรือสร้างดาวเทียมเป็นของตัวเองได้แล้ว
โดยหนึ่งในนั้นมาจาก 'นักเรียนมัธยม' ของประเทศไทยนี่เอง
ดาวเทียมที่มาจากเด็กมัธยมดวงที่ว่านี้คือ BCCSAT-1
เป็นผลงานการออกแบบและประกอบดาวเทียมของนักเรียนจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
ภายใต้การดูแลและโดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ในโครงการ BCC SPACE PROGRAM โดยถือเป็นดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน
และหนึ่งในดาวเทียมไม่กี่ดวงในโลก ที่ถูกพัฒนาโดยนักเรียนระดับมัธยม
โครงการ BCC Space Program มีนักเรียนในโครงการ 36 คน คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 23 คน
และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 13 คน ทั้งนี้ ได้ทำความร่วมมือเป็นกรณีพิเศษกับบริษัท ASTROBERRY
โดยดาวเทียมที่ส่งไปถือเป็นสมบัติและลิขสิทธิ์ทางปัญญาของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
และโรงเรียนได้ทำสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
และมหาวิทยาลัยโตเกียว
เป้าหมายของโครงการนี้ คือ การสร้างพื้นฐานและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีด้านอวกาศ
ให้แก่นักเรียน เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการบินและอวกาศเป็นองค์ความรู้แบบบูรณาการ
จึงช่วยพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในการคิดวิเคราะห์
และการประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ มาทำให้เกิดเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นรูปธรรมได้
ดาวเทียมดวงนี้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2021 เวลา 13:07 น.
โดยจรวด Soyuz-2.1a ของรัสเซีย พร้อมกับดาวเทียมดวงอื่นๆรวม 38 ดวงจาก 18 ประเทศ
ได้ออกเดินทางจากฐานปล่อยจรวด Baikonur ในประเทศรัสเซีย