เฉดสีที่หาได้ยากเป็นอย่างยิ่งในโลก
'สี' ถือเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่เราสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน
แต่ในมุมของคนที่ต้องใช้หรือทำงานเกี่ยวกับสี เรื่องนี้จะมีรายละเอียด
หรือองค์ประกอบที่ซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงมาก การเลือกใช้สีต่างๆ
อาจต้องคำนึงถึงความถูกต้องแม่นยำมากกว่าที่คนทั่วๆไปนึกถึงกัน
ในโลกของ 'เฉดสี' ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดนั้น มีอยู่บางสีที่ได้ชื่อว่าหาได้ยากที่สุด
โดยส่วนสำคัญของความหายากนี้มาจากกระบวนการผลิต หรือการได้มาซึ่งสีเหล่านั้น
ซึ่งบางครั้งก็เป็นวัตถุหรือวัตถุดิบที่หาได้ยากมาก หรือมีอันตรายเป็นอย่างมาก
จะมีสีอะไรบ้างที่ได้ชื่อว่าเป็น 'เฉดสีที่หาได้ยากที่สุดในโลก'
Cadmium Yellow หรือสีเหลืองพิฆาต
เป็นสีเหลืองที่ได้มาจาก 'แคดเมียม' ซึ่งเป็นสสารที่มีพิษร้ายแรง
ในยุคหนึ่งช่วงปี 1970 สีเหลืองนี้ถุกใช้กันแพร่หลายในวงการศิลปะ (เพราะคนยังไม่เข้าใจเรื่องพิษดีพอ)
สีเหลืองเฉดนี้ให้สีสดสวยมาก แต่เพราะมาจากแคดเมียม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็ง,
ระบบไตล้มเหลว รวมไปถึงสร้างความผิดปกติให้กับกระดูกมนุษย์ สิ่งนี้จึงกลายเป็นภัยอันตรายจนถูกยกเลิก
และมีการคิดค้นสีเลียนแบบหรือสีใกล้เคียงขึ้นมาแทน เพราะฉะนั้นรงควัตถุหรือวัตถุดิบในการทำสีเหลืองแคดเมียม
จึงกลายเป็นของหายากจนพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะต้องเก็บรักษาเอาไว้
สีฟ้าที่มาจากแร่ Lapis lazuli
เป็นสีฟ้าเฉดหนึ่งที่ได้รับการขนานนามว่า 'แพงกว่าทอง' เกิดขึ้นโดยใช้แร่อัญมณี Lapis lazuli
มาบดและสกัดเอาสีมาใช้งาน หินล้ำค่าที่เอามาสกัดสีนี้มาจากเขตภูเขาสูงในประเทศอัฟกานิสถาน
ในช่วงยุคศตวรรษที่ 14 – 15 มีการขนย้ายสิ่งนี้มาสู่ภาคพื้นยุโรป และเหล่านักเล่นแร่แปรธาตุก็นำชิ้นส่วนจากหินชนิดนี้
มาทำเป็นรงควัตถุเพื่อสร้างสีสำหรับการรังสรรค์ผลงานศิลปะ ด้วยความหายากแสนสาหัส
และมูลค่าอันสูงส่งของหินบนภูเขาสูงจากดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือนั้น
ทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ทั้งล้ำค่าและแทบจะหาเนื้อสีจริงๆ ไม่ได้แล้วตอนนี้
สีน้ำตาลจากผ้าห่อศพมัมมี่
เป็นสีน้ำตาลสุดพิเศษที่นำมาจากผ้าศพห่อของมัมมี่จริงๆ สีน้ำตาลอันมีเอกลักษณ์นี้มีที่มาจากมัมมี่ในอียิปต์
ซึ่งเรซินที่เกาะอยู่บนผ้าห่อศพนั้นคือเนื้อสีที่ตกผลึกมาอย่างยาวนาน ในสภาพแวดล้อมเฉพาะ
ในแบบที่หาตัวอย่างเทียบเคียงไม่ได้อีกแล้ว ในปัจจุบันมีเนื้อสีจริงจากธรรมชาติของสีน้ำตาลมัมมี่
เพียง 2 หลอดเท่านั้นในโลก ซึ่งเก็บตัวอย่างและรังสรรค์ขึ้นมาในรูปแบบหลอดจากฝีมือของ Charles Robertson
และทีมงานของพิพิธภัณฑ์ศิลปะมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด