'อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ'สถานที่สำคัญที่หลายคนมองข้าม
สำหรับคนที่อาศัยหรือทำงานในกรุงเทพมหานคร
คงหาได้ยากที่จะมีใครไม่รู้จัก หรือไม่เคยนั่งรถผ่าน
'อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ' ที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นตรงใจกลาง
ของย่านการค้าที่คึกคักที่สุดอีกแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของเรา
หลายคนอาจจะแค่นั่งรถผ่านไปผ่านมารอบๆสถานที่สำคัญนี้
โดยไม่เคยมีโอกาสได้รู้จักเรื่องราวและความสำคัญของอนุสาวรีย์แห่งนี้
'อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ' สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือน
ที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทย
กับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 คน ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน
โดยพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484
และจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นผู้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485
สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร
ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหาร
ที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ด้านนอกตอนโคนดาบปลายปืน
มีรูปปั้นหล่อทองแดงขนาดสองเท่าคนธรรมดาของนักรบ 5 เหล่า
คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน
ด้านนอกของผนังห้องโถงเป็นแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต
รายนามผู้ที่ได้รับการจารึกไว้มีทั้งสิ้น 160 นาย เป็นทหารบก 94 นาย
ทหารเรือ 41 นาย ทหารอากาศ 13 นาย และตำรวจสนาม 12 นาย
จนถึงปัจจุบัน แผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิตและผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่าง ๆ
ตั้งแต่ พ.ศ. 2483 – พ.ศ. 2497 รวมทั้งสิ้น 801 นาย
ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
ที่มีความสำคัญมากอีกที่หนึ่งของไทย