ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product: GDP)
หรือศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสภาคือ ผลิตภัณฑ์ในประเทศเบื้องต้น
หมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ
โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะผลิตขึ้นมาด้วยทรัพยากรของชาติใด
ซึ่งคิดค้นโดย Simon Kuznets นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซีย
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้
ถึงมาตรฐานการครองชีพของประชากรในประเทศนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม GDP เป็นดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
แต่ไม่สามารถชี้วัดคุณภาพชีวิตที่แท้จริงได้
การวัดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สามารถวัดได้ 2 วิธี ได้แก่
1. การวัดรายจ่าย (Expenditure Approach) ที่จ่ายให้สินค้าและบริการขั้นสุดท้าย
GDP = รายจ่ายเพื่อบริโภค + รายจ่ายเพื่อการลงทุน + รายจ่ายของรัฐบาล
+ รายจ่ายสุทธิของต่างประเทศที่ซื้อสินค้าผลิตในประเทศ
หรือ GDP = Consumption + Investment + Government spending + (exports – imports)
2. การวัดรายได้ (Resource Cost - Income Approach) ที่ได้จากการขายสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย
GDP = ค่าจ้างและเงินเดือนลูกจ้าง + รายได้เจ้าของธุรกิจส่วนตัว + กำไรของบริษัท (รายได้ผู้ถือหุ้น)
+ ดอกเบี้ย (รายได้เจ้าหนี้) + ค่าเช่า (รายได้เจ้าของสินทรัพย์) + ภาษีธุรกิจทางอ้อม
+ ค่าเสื่อมราคา + รายได้สุทธิของคนต่างชาติในประเทศ
และนี่คือรายชื่อประเทศที่มีตัวเลข GDP สูงที่สุดในโลกในปีปัจจุบัน
(ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปี 2022)
ประเทศสหรัฐอเมริกา 25,035,164 ล้านดอลลาร์
ประเทศจีน 18,321,197 ล้านดอลลาร์
ประเทศญี่ปุ่น 4,300,621 ล้านดอลลาร์
ประเทศเยอรมนี 4,031,149 ล้านดอลลาร์
ประเทศอินเดีย 3,468,566 ล้านดอลลาร์
ประเทศสหราชอาณาจักร 3,198,470 ล้านดอลลาร์
ประเทศฝรั่งเศส 2,778,090 ล้านดอลลาร์
ประเทศแคนาดา 2,200,352 ล้านดอลลาร์
ประเทศรัสเซีย 2,133,092 ล้านดอลลาร์
ประเทศอิตาลี 1,996,934 ล้านดอลลาร์
สำหรับประเทศไทย มีขนาด GDP มากเป็นอันดับที่ 27 ของโลก
ที่ประมาณ 534,758 ล้านดอลลาร์ จากทั้งหมด 216 อันดับ
ซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 ของทวีปเอเชีย