ปล่อยลูกติดจอ อันตรายกว่าที่คิด
ปัจจุบันถือได้ว่าโทรศัพท์คือสิ่งที่ช่วยแบ่งเบาความเหนื่อยจากลูกๆได้ เพราะเมื่อลูกอยู่กับจอลูกก็จะไม่กวนคุณพ่อคุณแม่เลย แต่รู้หรือไม่ว่าการดูจอนานๆ หรือดูก่อนวัย 2 ขวบ อันตรายมากๆ ที่คุณพ่อคุณแม่อาจคาดไม่ถึงเลย
สื่ออิเล็กทรอนิกส์มีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ วิดีโอเกม และอื่นๆอีกมากมาย อาจเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตมาสำหรับผู้ใหญ่ หรือผลิตมาสำหรับเด็กโดยตรงก็ตาม รวมทั้งยังสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน
เคยมีการศึกษาวิจัยในประเทศไทยพบว่า ผู้ใหญ่มักจะให้เด็กดูโทรทัศน์ตั้งแต่อายุยังน้อยและใช้เวลาในการดูโทรทัศน์นานด้วย นอกจากนั้นยังมักปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์ตามลำพังอีกด้วย พ่อแม่บางคนยังมีความเชื่อว่าการดูโทรทัศน์น่าจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีและเร็วขึ้นด้วยซ้ำ
ทำไมถึง ห้ามเด็กดูจอ ก่อน 2 ขวบ?
เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี เป็นวัยที่ยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดีพอ ไม่สามารถแยกแยะสื่อกับเหตุการณ์จริง อีกทั้งยังมีพฤติกรรมการเลียนแบบ และได้รับอิทธิพลจากคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ เพื่อน รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในการนำมาปฏิบัติเป็นพฤติกรรมของตัวเด็กเอง จึงถือเป็นวัยที่ยังไม่ควรให้ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์
ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี ถึงแม้ว่าจะสามารถให้เด็กใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้บ้าง แต่เมื่อไรก็ตามที่เด็กใช้เวลากับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม พัฒนาการ และสุขภาพของเด็กเช่นเดียวกัน
4 ข้อเสียเด็กติดจอ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ส่งผลเสียกับเด็กอย่างไร ?
1. พัฒนาการในด้านต่างๆ ช้าลง
การที่เด็กใช้เวลากับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปย่อมส่งผลให้เด็กมีเวลาในการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ควรจะทำในวัยของเขาเหล่านั้นลดลง ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดเหล่านั้นล้วนเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการ Power BQ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการของเด็กทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น เล่นของเล่นต่างๆ ลดลง, ได้วาดภาพระบายสีน้อยลง, ไม่มีเวลาในการเล่นบทบาทสมมติ (PQ), คุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือนิทานให้ฟังลดลง จึงไม่แปลกที่จะมีผลกับพัฒนาการของเด็กในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่และการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อมัดเล็ก และสติปัญญา (IQ) การใช้ภาษา การเข้าสังคม (SQ) อีกทั้งยังลดโอกาสการเรียนรู้ของเด็ก ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ (CQ) ลดจินตนาการ ไม่ได้ฝึกการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (AQ) อีกด้วย
2. ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง
การที่เด็กมัวแต่สนใจสื่ออิเล็กทรอนิกส์ย่อมส่งผลให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง เล่นกับพ่อแม่น้อยลง มิกิจกรรมร่วมกับพี่ น้องและเพื่อนๆ น้อยลง หากพ่อแม่ที่ติดสื่ออิเลกทรอนิกส์ด้วยก็ยิ่งส่งผลให้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กและสื่อสารกับเด็กลดลงมากขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับคนรอบข้าง ส่งผลต่อพัฒนาการโดยเฉพาะด้านภาษาของเด็ก ทำให้พัฒนาการทั้งการรับรู้ภาษาและการใช้ภาษาช้าลง ซึ่งมีหลายการศึกษาวิจัยสนับสนุนความสัมพันธ์เหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น พัฒนาการทางด้านภาษาเป็นอะไรที่ค่อนข้างซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านการเข้าสังคม พัฒนาการทางด้านสติปัญญา พัฒนาการทางด้านอารมณ์ (EQ) จึงส่งผลให้พัฒนาการเหล่านี้ช้าลงด้วยนั่นเอง
3. พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปียังมีพฤติกรรมเลียนแบบและยังควบคุมตัวเองได้ไม่ดี ได้รับอิทธิพลจากสิ่งรอบตัวเป็นอย่างมาก สื่ออิเลกทรอนิกส์เหล่านี้ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงไม่เหมาะสมได้ รวมทั้งพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน เนื่องจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีการแสดงออกซึ่งความรุนแรง ก้าวร้าว และพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมเต็มไปหมด เกมส์ต่างๆ ก็ล้วนแต่มีเนื้อหาที่ค่อนข้างรุนแรง จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจะส่งผลต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กเป็นอย่างมาก
4. สุขภาพร่างกายของเด็กมีปัญหา
โรคอ้วน : เกิดปัญหาโรคอ้วนตามมาเนื่องจากการติดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทำให้เวลาในการทำกิจกรรมอื่นๆ และการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง เกิดภาวะน้ำหนักเกินตามมา
สมาธิสั้นและภาวะซน มีการศึกษาวิจัยพบว่า ยิ่งเด็กเสพสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งส่งผลให้มีพฤติกรรมซนและสมาธิสั้นเมื่อเด็กโตขึ้น
ปัญหาการนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมลูกไม่ยอมเข้านอนจากการติดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การนอนหลับช้ากว่าปกติ วิตกกังวลเกี่ยวกับการนอนหลับ หรือระยะเวลาในการนอนหลับสั้นลงก็ตาม ซึ่งปัญหาในการนอนหลับนั้นล้วนส่งผลต่ออารมณ์ พฤติกรรม และการเรียนรู้ทำให้มีปัญหาเหล่านี้ตามมาอีกมากมาย
เกิดภาวะทางจิตเวชเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และการฆ่าตัวตายที่มากขึ้นในเด็กโตและวัยรุ่น
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ส่งผลดีกับเด็กอย่างไร ?
สื่ออิเล็กทรอนิกส์อาจช่วยส่งเสริมทักษะด้านสังคม ภาษา และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนหนังสือได้หากคุณพ่อคุณแม่เลือกสื่อที่เหมาะสมและมีคุณภาพ แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี ขึ้นไปเพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีความเข้าใจมากขึ้น และสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้นนั่นเอง
ข้อแนะนำเกี่ยวกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสม
1. พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ห้ามเด็กดูจอ ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี ให้จำกัดระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
2. พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก สื่อที่มีเนื้อหารุนแรง ก้าวร้าว หรือเกี่ยวกับเรื่องเพศ เป็นต้น
3. พ่อแม่ควรเลือกสื่อที่เหมาะสมกับเด็ก และสร้างมาเฉพาะเด็กโดยตรง รวมทั้งดูสื่อเหล่านั้นไปพร้อมกับเด็ก คอยอธิบาย ให้คำปรึกษา แนะนำกับเด็กไปพร้อมๆ กับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น
4. หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ พ่อแม่ควรมีการตั้งกฎเกณฑ์การรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม มีการจำกัดเวลา กำหนดสถานที่ เป็นต้น
5. พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากการที่พ่อแม่ติดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ล้วนส่งผลให้ความสนใจที่มีต่อลูกลดลงเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น หากพ่อแม่กำลังทำงานอยู่ไม่สามารถเล่นกับเด็กได้ ควรหากิจกรรมหรือของเล่นให้เด็กเล่นโดยไม่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ลูกเล่นอยู่ใกล้ๆ บริเวณที่พ่อแม่ทำงานเพื่อความปลอดภัยของลูก
6. ควรจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม เช่น ในห้องนอนลูก ไม่ควรมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อลดโอกาสการเข้าถึงสื่อเหล่านั้น
รู้แบบนี้แมบ้วแม่ๆคนไหนอยากให้ลูกมีพัฒนาการที่สมวัย และมีพัฒนาการที่พร้อม ครบทั้ง 4 ด้าน ก็ควรให้ลูกดูจออย่างมีวินัย ไม่ให้ดูมากเกินไปนะคะ