ปางของพระพุทธรูปที่หาชมได้ยากมาก
พระพุทธรูป ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ของศาสนาพุทธซึ่งถือเป็นศาสนาสำคัญที่ีผู้นับถือหลายร้อยล้านคน พระพุทธรูป หมายถึง รูปที่สร้างขึ้นแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไว้เพื่อกราบไหว้บูชา อาจใช้การแกะสลักจากวัสดุต่างๆ เช่น หิน งาช้าง ไม้ หรือวัสดุอื่นๆ นอกจากนี้ยังอาจใช้การปั้นด้วยดิน หรือหล่อด้วยโลหะก็ได้ โดยทั่วไป คำว่าพระพุทธรูป มักจะหมายถึงรูปขนาดใหญ่พอที่จะวางบูชาได้ สำหรับรูปขนาดเล็กมักจะเรียกว่า พระเครื่อง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแบบสามารถเรียกว่า พระพุทธรูป ได้เช่นกัน พระพุทธรูปถูกสร้างขึ้นในหลายักษณะที่แตกต่างกันไป เราเรียกกันว่า'ปางพระพุทธรูป'
ปางพระพุทธรูป คือ ลักษณะของรูปสมมุติของพระพุทธเจ้าในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นตามความเชื่อในพุทธประวัติ โดยช่างสมัยโยนก (คันธารราฐ) ราชวงศ์คุปตะ (พ.ศ. 863-1023) เป็นชาวกรีกพวกแรกที่กำหนดรูปแบบปางพระพุทธรูป ต่อมาช่างชาวอินเดียฝ่ายใต้ ซึ่งเป็นชาวกลิงคราฐข้างฝ่ายใต้ รวมทั้งในยุคสมัยต่างๆ ในภายหลังได้คิดปางพระพุทธรูปเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
เราอาจคุ้นเคยกันดีกับพระพุทธรูปในปางที่นิยมสร้างกัน อย่างเช่น ปางสมาธิ ที่พบกันได้ตามวัดทั่วๆไป แต่ในความเป็นจริง ยังมีพระพุทธรูปในปางอื่นๆอีกมากที่ไม่ค่อยได้พบเห็น เช่น ปางประทับเรือขนาน เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) บนพระแท่น พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางคว่ำ บนพระชานุ (เข่า) บางแบบพระหัตถ์ซ้ายคว่ำที่พระชานุ พระหัตถ์ขาวจับชายจีวร พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว
ปางทรงรับผลมะม่วงเป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิพระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาถือผลมะม่วง หงายหลังพระหัตถ์ไว้บนพระชานุ (เข่า)
ปางโปรดทรงพระสุบิน เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถบรรทม (นอน) ตะแคงขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระพาหา (ต้นแขน) ขวาแนบกับพื้น ยกหลังพระหัตถ์ขึ้นแนบพระหนุ (คาง) งอนิ้วพระหัตถ์แนบกับพระปราง (แก้ม) หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย เป็นกิริยาบรรทมหลับในลักษณะสีหไสยาสน์ พระปางไสยาสน์ ลักษณะเช่นเดียวกับปางปรินิพพาน และปางโปรดอสุรินทราหู
ปางห้ามพยาธิ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม มีลักษณะคล้ายกันกับปางห้ามสมุทรหรือปางห้ามญาติ นิยมทำเป็นแบบพระทรงเครื่อง
ปางบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นพระพุทธรูปในลักษณะอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย มองเห็นพระวรกายซูบผอมจนพระอัฐิ (กระดูก) และพระนหารุ (เส้นเอ็น) ปรากฏ ลักษณะพระวรกายผ่ายผอมเห็นหนังติดกระดูก