วัตถุโดยฝีมือมนุษย์ที่เคลื่อนที่ได้เร็วมากอย่างน่าทึ่ง
เป็นที่รู้กันว่าอวกาศเป็นสถานที่ที่กว้างใหญ่มาก
การออกเดินทางเพื่อสำรวจหรือหาคำตอบบางอย่าง
เลยจำเป็นต้องลงทุนและใช้เวลาในการวิจัยพัฒนาอย่างมหาศาล
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หน่วยงานด้านอวกาศของประเทศชั้นนำ
ต่างพากันผลิตยานอวกาศรุ่นต่างๆมากมาย เพื่อส่งออกไปสำรวจ
และไขปริศนาอันดำมืดของห้วงจักรวาล ยานอวกาศหลายลำ
ก็ได้ช่วยหาคำตอบสำคัญที่มนุษย์สงสัยกันมานานนับพันปี
หนึ่งในยานอวกาศรุ่นที่เป็นที่สนใจมากที่สุด
คือยานที่ชื่อว่า The Parker Solar Probe
(ชื่อเดิมคือ Solar Probe, Solar Probe Plus หรือ Solar Probe+)
เป็นยานสำรวจอวกาศของ NASA ที่เปิดตัวในปี 2561 โดยมีภารกิจ
ในการสังเกตการณ์โคโรนาชั้นนอกของดวงอาทิตย์ มันจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์
ในระยะความห่าง 9.86 รัศมีสุริยะ (6.9 ล้านกม. หรือ 4.3 ล้านไมล์) จากใจกลางดวงอาทิตย์
และภายในปี 2568 จะเดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
ด้วยความเร็ว 690,000 กม./ชม. (430,000 ไมล์ต่อชั่วโมง)
หรือ 0.064% ของความเร็วแสง
ซึ่งถือเป็นวัตถุที่เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา
โครงการใช้ต้นทุนอยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์
ของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ออกแบบและสร้างยานอวกาศ
โดยยานเปิดตัวเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 กลายเป็นยานอวกาศ NASA
ลำแรกที่ตั้งชื่อตามบุคคลที่มีชีวิต โดยตั้งเป็นเกียรติแก่นักฟิสิกส์
ที่ชื่อว่า 'ยูจีน นิวแมน ปาร์กเกอร์' ซึ่งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลาประมาณ 18:04 น.
ยานอวกาศลำนี้ได้กลายเป็นยานที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด
โดยสถิติก่อนหน้านี้คือ 42.73 ล้านกิโลเมตร (26.55 ล้านไมล์) จากพื้นผิวดวงอาทิตย์
เป็นสถิติของยานอวกาศเฮลิออส 2 ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2519
ณ จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของมันในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
Parker Solar Probe เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดที่ระยะ 8.5 ล้านกิโลเมตร (5.3 ล้านไมล์)