"Alan Turing" กับข้อหาเป็นอาชญากรจากการเป็น "รักร่วมเพศ"
เป็นเรื่องราวที่น่าเศร้าและน่าเห็นใจอยู่ไม่น้อย ถ้าชายคนหนึ่งที่มีความสามารถในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่สร้างประโยชน์ให้แก่โลกนี้อย่างมหาศาล แต่กลับต้องถูกพิพากษาว่าเป็น "อาชญากร" จากการที่รู้ว่าเขาเป็น "รักร่วมเพศ"
1. ประวัติเริ่มต้น
นามของเขาคือ "อลัน ทัวริง" (Alan Turing) เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อาศัยอยู่กับพี่ชาย โดยพ่อและแม่ของเขาได้พบกันจากการทำงานที่ประเทศอินเดีย เขาเป็นชาวอังกฤษ และเป็นนักคณิตศาสตร์และนักรหัสวิทยา
เขาเรียนจบภาควิชาคณิตศาสตร์จาก "คิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์" (King's College, Cambridge) จากนั้นก็ศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกที่ "มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน" (Princeton University) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และสุดท้ายเขาก็ได้ชื่อว่า "บิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์"
2. ถูกร่วมให้มาถอดรหัสของนาซี
ระหว่างเป็นอาจารย์อยู่ก็ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องรวบรวมนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิทั่วประเทศ เพื่อให้มาถอดรหัส "เครื่องอีนิกม่า" (Enigma) (อุปกรณ์เข้ารหัสในการสื่อสารทางการทหารและอื่นๆ) ของกองทัพนาซี เยอรมนี ซึ่งเขาก็เป็นหนึ่งในทีมถอดรหัสด้วย
3. เขาค้นพบวิธีถอดรหัส
ในการถอดรหัสจากเครื่องเอนิกม่านั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆและยากแสนสาหัส ผู้ถอดรหัสต้องมีโค้ดสำหรับการเซ็ตรหัสที่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการเซ็ตทั้งหมดมีมากถึง 159 ล้านล้านล้านรูปแบบ นั่นทำให้ฝั่งนาซีมั่นใจในความปลอดภัยของเครื่องเอนิกม่าอย่างมาก
ว่าจะไม่มีวันโดนเจาะรหัสอย่างเด็ดขาด แต่แล้วเขาก็ค้นพบวิธีถอดรหัสได้สำเร็จในเดือน มีนาคม ปี ค.ศ. 1940 จึงทำให้ถอดใจความการปฎิบัติการของกองทัพนาซีได้ จึงทำให้กองทัพอังกฤษสามารถรับมือกับกองทัพนาซีในการทำสงครามได้ และทำให้ช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับทางฝั่งอังกฤษได้เป็นอย่างมาก
4. ทำงานหนักแต่ไม่ได้เครดิต
แม้ว่าเขาจะมีผลงานและสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติก็ตาม แต่มันก็ถือเป็นความลับของทางการทหารของรัฐบาล เขาจึงไม่ได้รับเครดิตอะไรนักแต่ก็ยังคงต้องทำหน้าที่ให้กับหน่วยถอดรหัสต่อไป รวมถึงทำงานวิชาการให้กับหน่วยงารรัฐและมหาวิทยาลัยหลายแห่งอีก จนได้รับรางวัลคุณงามความดีเป็น "เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น OBE" จากพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งอังกฤษ
5. คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก
พอปี ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง 1 ปี เขาก็ได้ออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถมีโปรแกรมได้เครื่องแรกของโลก ที่ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์แห่งชาติ และสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นจริงๆ ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ โดยมีต้นแบบจาก “Turing Machine” ที่เขาเคยประดิษฐ์สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นต้นแบบของเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนั่นเอง
6. ความลับรักร่วมเพศถูกเปิดเผย
เขากำลังจะไปได้ด้วยดีในหน้าที่การงาน ส่วนชีวิตส่วนตัวเขาเริ่มคบหากับ "อาร์โนลด์ เมอร์เรย์" (Arnold Murray) เด็กหนุ่มอายุ 19 ปี โดยปิดเป็นความลับ แต่แล้วจู่ๆวันที่ 23 มกราคม ปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) ก็มีโจรขโมยขึ้นบ้านเขา
เขาจึงโทรแจ้งตำรวจให้มาจัดการกับหัวขโมย แต่พอตำรวจมาถึงกลับพบหลักฐาน ว่าเขามีความสัมพันธ์กับผู้ชายภายในบ้านพัก ซึ่งในสมัยนั้นในทศวรรษที่ 1950 รสนิยมทางเพศในการรักเพศเดียวกัน ถือว่าเป็นเรื่องที่สังคมยังไม่ยอมรับ ถือว่า "ผิดกฎหมายอาญาของอังกฤษ" เขาและแฟนหนุ่มเลยถูกจับกุมในที่สุด
7. เลือกฉีดอัณฑะให้ฝ่อ
พอข่าวนี้เผยแพร่ออกไปชื่อเสียงของเขาก็ตกต่ำลง ทั้งยังถูกไล่ออกจากงานทั้งหมด ต่อมาศาลมีคำตัดสินว่าเขาและแฟนหนุ่มมีความผิดจริง ศาลจึงให้เขาเลือกระหว่างถูกจำคุกหรือจะให้ฉีดยาให้อัณฑะฝ่อ เพื่อลดความต้องการทางเพศเป็นเวลา 1 ปี เขาจึงเลือกข้อหลังเพื่อจะได้ไม่ติดคุกแทน
8. การเสียชีวิต
เขาเสียชีวิตในวันที่ 7 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) ศพถูกพบในบ้านพักขณะมีอายุเพียง 41 ปี จากการชันสูตรพบว่าเขาได้รับสารไซยาไนด์ในปริมาณที่ฆ่าคนได้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้เขาเสียชีวิต บ้างก็ว่าเขาฆ่าตัวตายเองเพราะทนแรงกดดันจากข้อหารักร่วมเพศไม่ได้ จนต้องถูกฉีดยาให้เขาลดความต้องการทางเพศลง บ้างก็ว่าเขาได้รับสารไซยาไนด์โดยบังเอิญระหว่างทำงาน หรือบ้างก็ว่าเขาถูกลอบสังหาร เพื่อป้องกันความลับของรัฐบาลที่อาจจะรั่วไหลได้
9. ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
เมื่อเวลาเปลี่ยนสังคมเปลี่ยน ก็ย่อมทำให้ความคิดของคนในสังคมก็เปลี่ยนไป จึงได้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิและความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทำให้รสนิยมในการรักเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องผิด ทำให้ในปี ค.ศ. 2013 "สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2" ได้พระราชทานอภัยโทษ ย้อนหลังแก่ อลัน ทัวริง คิดเป็นเวลาถึง 59 ปี นับจากเขาเสียชีวิต
10. ยกเลิกความผิดฐานรักร่วมเพศ
พอต่อมาในปี ค.ศ. 2017 รัฐบาลอังกฤษก็ประกาศใช้ "กฎหมาย อลัน ทัวริง" เพื่อยกเลิกความผิดฐานรักร่วมเพศในอดีตไป และลบรายชื่อผู้ต้องหาจากกรณีนี้ในอดีต ออกจากประวัติอาชญากรรมทุกคน
11. ตีพิมพ์รูปเขาบนธนบัตร
จากนั้นเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2019 ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ก็ประกาศว่า "อลัน ทัวริง" ได้รับการคัดเลือกให้ปรากฎอยู่บนธนบัตร 50 ปอนด์ฉบับใหม่ พร้อมกับสิ่งประดิษฐ์ของเขา เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาที่เคยได้สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
และนี่คือเรื่องราวของชายคนหนึ่ง ที่ยุคหนึ่งต้องกลายมาเป็นอาชญากร เพียงเพราะรสนิยมทางเพศที่ไม่ได้สอดคล้องกับบรรทัดฐานของสังคมในเวลานั้น มาวันนี้เขาได้รับการลบล้างมลทินจากคนรุ่นหลัง
ที่ทุกคนต่างรู้ดีว่า..ไม่ว่าใครจะชอบรสนิยมแบบไหน ก็ไม่สมควรถูกตัดสินให้มีความผิด และไม่ควรนำเรื่องแบบนี้มาตัดสินคุณค่าตัวตนของใครทั้งสิ้น
ขอบคุณภาพต่างจาก : google, wikipedia