สัตว์เลี้ยงตัวแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ขึ้นไปโคจรรอบโลก
มนุษย์โลกสนใจเรื่องท้องฟ้าและดวงดาวมานับพันปีแล้ว
จนเมื่อวิทยาการทันสมัยมากพอ ช่วงเวลาแห่งการออกสำรวจอวกาศจึงได้เริ่มขึ้น
โดยในช่วงแรกๆชองยุคตื่นตัวทางเทคโนโลยีอวกาศนั้น
มีแค่ 2 มหาอำนาจเท่านั้นที่มีงบประมาณและขุมความรู้มากพอ
ในการจะประดิษฐ์และทดลองได้แบบจริงจัง คือสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต
โดยสหภาพโซเวียตในช่วงนั้นถือว่ามีความพร้อม
และพร้อมจะทำการทดสอบให้เร็วที่สุดเพื่อเป็นการประกาศศักดา
'ผู้นำแห่งเทคโนโลยีอวกาศ' ให้ได้มาอยู่ในครอบครอง
ความสำเร็จครั้งสำคัญของโซเวียต
คือการส่ง 'ดาวเทียมสปุตนิก 1' ดาวเทียมดวงแรกของโลกเข้าสู่วงโคจร
ในเดือนตุลาคม 1957 และรีบเร่งทำภารกิจครั้งสำคัญครั้งใหม่ในทันที
คือโครงการ 'สปุตนิก 2' ในหนึ่งเดือนถัดมา
โดยในโครงการนี้เอง ที่ทางโซเวียตเลือกจะส่ง 'สิ่งมีชีวิต' ติดขึ้นไปด้วยเป็นครั้งแรก
เป็นการทดสอบความเป็นไปได้ที่จะมีชีวิตรอดหากจะส่งมนุษย์ขึ้นไปในวงโคจรในอนาคต
สิ่งมีชีวิตชั้นสูงที่ถูกส่งขึ้นไปในครั้งนี้
คือสุนัขเพศเมียวัย 3 ปี ที่ชื่อว่า 'ไลกา (Laika)'
อดีตสุนัขเร่ร่อน ที่ได้เข้ารับการฝึกให้เป็นนักบินอวกาศ
และได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้โดยสารที่ได้ขึ้นไปกับยานสปุตนิก 2
ยานถูกปล่อยเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 1957
มีการคาดการณ์ว่าไลกาเอง 'น่าจะตาย' ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากปล่อยยาน
เนื่องจากไม่สามารถทนความร้อนได้ แต่อีกหลายแหล่งข่าวก็เชื่อว่า
ไลกาน่าจะยังมีชีวิตรอดอยู่จนได้ขึ้นไปบนวงโคจรโลกแล้ว
และน่าจะตายลงจากการค่อยๆหมดออกซิเจน 6 วันหลังจากปล่อยยาน
ถือเป็นภารกิจ 'สละชีพในอวกาศ' ครั้งแรก
ก่อนจะนำไปสู่การพัฒนายานที่มีมนุษย์ขึ้นไปด้วยในอีก 4 ปีถัดมา
ปัจจุบันมีการสร้างอนุสาวรีย์ให้กับไลกา
ตั้งอยู่ที่ใจกลางกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย