โครงการรถไฟฟ้าของไทยที่เหลือเพียงเรื่องเล่าอันเป็นตำนาน
สำหรับคนที่ใช้ชีวิตหรือทำงานในเขตกรุงเทพและปริมณฑลในปัจจุบัน น่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วกับ 'รถไฟฟ้า' ที่มีให้บริการอยู่หลายหลาย หลายเส้นทาง ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการเดินทาง ในเมืองที่การจราจรคับคั่งมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
แต่ก่อนที่เราจะได้ใช้รถไฟฟ้าที่เราคุ้นชื่อกันดีแบบที่เรียกติดปาก อย่างรถไฟฟ้า 'บีทีเอส/เอ็มอาร์ที หรือ แอร์พอร์ทลิงก์' รู้หรือไม่ว่าเราเคยมี 'ว่าที่' รถไฟฟ้าในโครงการอื่นมาก่อนแล้ว เพียงแต่เป็นโครงการที่ประสบปัญหาจนไม่สามารถก่อสร้าง ให้สำเร็จตามกำหนดเดิมได้ เป็นโครงการที่ชื่อว่า 'รถไฟฟ้าลาวาลิน'
'โครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน' เป็นโครงการที่ได้รับสัปทานก่อสร้าง โดยบริษัทจากประเทศแคนาดา โดยมีแผนเริ่มก่อสร้างครั้งแรกในปี 2524 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2529 แต่เพราะในช่วงนั้นมีปัญหามากมาย ทำให้โครงการในระยะแรกต้องถูกระงับไปก่อน และได้กลับมาเริ่มก่อสร้างใหม่ ในปี 2533 ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้อยู่ที่สะพานพระปกเกล้า โครงการมีแผนจะก่อสร้างทั้งหมดแบ่งเป็น 3 เส้นทาง รวมทั้งหมด 63 สถานี มีระยะทางรวมกันทั้งสิ้น 61 กิโลเมตร มีมูลค่าก่อสร้างทั้งโครงการ 55,000 ล้านบาท แต่หลังจากเริ่มต้นโครงการไปไม่นาน แผนการสร้างก็ต้องมาสิ้นสุดลง เนื่องจากพบปัญหามากมายโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณการก่อสร้าง และตรวจพบความไม่โปร่งใสในขั้นตอนดำเนินการ โครงการรถไฟฟ้าลาวาลินสิ้สุดโครงการลง ในสมัยที่นายอานันท์ ปัญยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
พื้นที่ก่อสร้างเดิมของโครงการนี้ ปัจจุบันถูกแทนที่และใช้ประโยชน์โดย โครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้ามหานคร ส่วนจุดเริ่มต้นโครงการที่สะพานพระปกเกล้านั้น ปัจจุบันถูกพัฒนามาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในนาม 'สวนลอยเจ้าพระยา' สวนสาธารณะเหนือแม่น้ำที่แรกในประเทศไทย