เส้นทางถนนแบบสมัยใหม่สายแรกของไทย
ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือโครงสร้างขั้นพื้นฐาน
ถือเป็นส่วนที่สำคัญมากต่อความสามารถในการพัฒนาเมืองหรือประเทศ
เพราะจะส่งผลไปถึงการลงทุน การท่องเที่ยว การตั้งรกราก
รวมไปถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนและความสวยงามปลอดภัยของเมือง
ในประเทศไทยเองก็มีการริเริ่มการพัฒนาระบบขั้นพื้นฐานนี้มานานแล้ว
ตั้งแต่ช่วงแรกๆของการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ และสามารถทำได้จริงแบบเป็นรูปธรรม
ในช่วงที่ไทยเริ่มได้ไปติดต่อค้าขาย กับชาติตะวันตกอย่างเป็นทางการ
เป็นที่มาของความรู้และวิทยาการสมัยใหม่
หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานอย่างแรกๆที่เกิดขึ้นในไทย
คือระบบถนน ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการสร้าง 'ถนนสายแรกของไทย'
และถูกตั้งชื่อว่า 'ถนนเจริญกรุง' การก่อสร้างเริ่มขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2405
และสร้างเสร็จพร้อมเปิดใช้งานในวันที่ 17 มีนาคม 2407
ถนนเจริญกรุงมีความยาว 8.575 กิโลเมตร ยาวจากถนนสนามไชยไปจนถึงดาวคะนอง
ด้วยงบก่อสร้างทั้งสิ้น 19,700 บาท ถนนสายนี้เมื่อแรกสร้างยังไม่ถูกตั้งชื่อ
จนมีคนเรียกกันว่า 'ถนนใหม่ (New Road)' แล้วจึงถูกตั้งชื่อโดยรัชกาลที่ 4
ว่าถนนเจริญกรุงในภายหลัง เพื่อสื่อความหมายถึงความเจริญของบ้านเมือง
ถนนเจริญกรุงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการขยายตัวของเมือง
ตามรูปแบบเมืองในยุโรป ทำให้เกิดสังคมเมืองและการค้าขายขึ้น
มีตึกแถว มีการประดับโคมไฟถนนแทนตะเกียงแบบดั้งเดิม
ถนนเส้นนี้จึงถือเป็นรากฐานที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง
ของความเจริญรุ่งเรืองในเมืองหลวงของประเทศไทยในปัจจุบัน