คนยากจนในประเทศไทยมีอยู่มากน้อยแค่ไหน
จากการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2020
และลากยาวมาจนปัจจุบัน นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรง
กับชีวิตของคนไทยแล้ว ความเสียหายนี้ยังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง
กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ คนไทยจำนวนหลายล้านคน
ที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากอยู่แล้วก่อนหน้านี้ ยิ่งถูกซ้ำเติมให้ลำบากยิ่งขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว
จากการประกาศของฟากฝั่งรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา
ว่ามีนโยบาย 'ทำให้คนจนหมดประเทศ' ซึ่งแม้จะฟังดูเข้าใจได้ยาก
ว่าจะสามารถจัดการให้เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุด
ก็อาจจะถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่าภาครัฐเอง
ก็เล็งเห็นปัญหานี้ และพร้อมจะลงมือแก้ไข
เมื่อพูดถึง 'ความยากจน' หลายคนอาจจะสงสัยว่าความยากจนมันแบ่งกันยังไง
ใช้มาตรฐานหรือเกณฑ์ข้อไหนมาวัด ซึ่งถ้าโดยหลักการจริงๆแล้ว
ความยากจนของคน จำแนกออกเป็นกลุ่มย่อยได้หลากหลายมาก
แต่ที่จะเห็นภาพได้ง่ายที่สุด ก็คือ ผู้ที่มีรายได้เฉลี่ย 'ต่ำกว่าเส้นของความยากจน'
ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ (ตัวเลขเปลี่ยนได้เรื่อยๆ)
ในปัจจุบันนี้ เส้นแบ่งความยากจนของไทยอยู่ที่ประมาณเกือบๆ 2800 บาท
นั่นเท่ากับว่า หากใครที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่านี้ ก็จะเข้าเกณฑ์เป็นคนยากจนทันที
ที่ผ่านมาสื่อหลายสำนักพยายามระบุตัวเลขที่แน่นอน
ของจำนวนคนยากจนในไทย ซึ่งความจริงทำได้ยากมาก
แต่จากข้อมูลที่มีรายงานออกมาจากรัฐ ระบุว่าในปี 2563
มีคนยากจนทั่วประเทศจำนวน 4.8 ล้านคน (ไม่แน่ใจว่าใช้เกณฑ์ข้อไหน)
ในขณะที่ปี 2557 มี 7.1 ล้านคน และปี 2561 มี 6.7 ล้านคน
แต่หากใช้มาตรวัดของผู้ที่ลงทะเบียนถือบัตรคนจน ที่มีอยู่ราวๆ 20 ล้านใบ
ก็อาจจะประมาณอย่างคร่าวๆได้ว่า จำนวนคนจนในไทย
อาจไม่ใช่แค่เลขหลักเดียวอย่างที่มีผู้กล่าวอ้าง
แต่อาจสูงถึงระดับสิบล้านคนเป็นอย่างน้อย
คนจนในไทยไม่เคยได้รวยขึ้น
ในขณะที่คนรวยในไทยก็ไม่เคยจนลงเหมือนกัน