"Vladimir the Great" ฮีโร่ผู้ที่รัสเซียกับยูเครน..อยากครอบครอง
เคยได้ยินคำว่า "นักบุญวลาดิเมียร์" กันมั้ย ? และเป็นใคร มีบทบาทสำคัญยังไงกับชาวรัสเซียและชาวยูเครน จนต้องแย่งชิงเพื่อจะได้เป็นเจ้าของ งั้นมาอ่านกันดู
1. ใครๆก็รักวลาดิเมียร์
ในที่นี้ไม่หมายถึงวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำที่กำลังทำสงครามกับประเทศยูเครนแต่อย่างใด แม้ว่าเขาจะมีแฟนคลับเยอะทั้งนอกและในประเทศ และมีคะแนนที่สูงในระดับเกิน 80% มาโดยตลอด แต่ในที่นี้เรากำลังกล่าวถึง “เซนต์วลาดิเมียร์” องค์ชายที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างรากฐานของจักรวรรดิรัสเซียขึ้นมาต่างหาก
2. ยูเครนรู้สึกว่าฮีโร่ถูกขโมย
เรื่องของเซนต์วลาดิเมียร์ เป็นประเด็นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2016 (พ.ศ. 2559) เนื่องจาก "วลาดิเมียร์ ปูติน" (Vladimir Putin) ได้ไปเปิดตัวอนุสาวรีย์ของนักบุญที่ชื่อเดียวกันกับตัวเอง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังเครมลิน (Grand Kremlin Palace) ในกรุงมอสโคว จนได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวยูเครน ที่รู้สึกเหมือนถูกโดนขโมยฮีโร่ไปเป็นของรัสเซีย
3. นักบุญวลาดิเมียร์คือใคร ?
"นักบุญวลาดิเมียร์ หรือ วลาดิเมียร์มหาราช" (Vladimir the Great) คือเจ้าผู้ครองแคว้น “เคียฟ” เมืองหลวงของยูเครนในปัจจุบัน ซึ่งพระองค์คือผู้ที่สามารถรวบรวมแคว้นเคียฟกับนอฟโกรอด (Novgorod) เข้าเป็นหนึ่ง และเป็นผู้ที่เปลี่ยนให้ดินแดนแถบนี้กลายเป็นอาณาจักรแห่งคริสเตียนออร์ธอดอกซ์
เพราะสำหรับชาวยูเครนแล้วนักบุญวลาดิเมียร์ ถือว่าเป็นวีรบุรุษของชาวเคียฟ ซึ่งเชื่อมโยงกับชาวยูเครนในยุคปัจจุบันโดยตรง และการที่วลาดิเมียร์ ปูติน จงใจที่จะยกย่องนักบุญชื่อเดียวกับตัวเองนั้น จึงทำให้ชาวยูเครนรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกโดนขโมยสัญลักษณ์ ที่เป็นอัตลักษณ์ประจำชนชาติยูเครนของตนเองไปนั่นเอง
S.Vladimir_by_anonymous_after_Vasnetsov_(20_c,_priv.coll)
4. ประวัติเจ้าชายฯ
"เจ้าชายวลาดิเมียร์มหาราช" (Vladimir the Great) เป็นผู้ปกครองของอาณาจักรเคียฟวานรุส (Kievan Rus) ในช่วงปี ค.ศ. 980 (พ.ศ. 1523) จนถึง ค.ศ. 1015 (พ.ศ. 1558) พระองค์ประสูติเมื่อราวปี ค.ศ. 956 (พ.ศ. 1499) เป็นโอรสของ "เจ้าชายสเวียโตสลาฟ" (Sviatoslav) ตระกูลเจ้าที่มีเชื้อสายนอร์แมน (หรือพวกไวกิ้ง) และรุส (Norman-Rus) ซึ่งพระองค์ก็ยังมีเชษฐา (พี่ชาย) และอนุชา (น้องชาย) ร่วมบิดาอีกหลายพระองค์
5. การแย่งชิงอำนาจกับพี่น้อง
จนพระองค์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชายแห่งนอฟโกรอฟ หลังจากนั้น 2 ปี พระบิดาก็สิ้นพระชนม์ จึงนำไปสู่การแย่งชิงอำนาจในบรรดาพระโอรสด้วยกันเอง สถานการ์ได้บีบให้เจ้าชายวลาดิเมียร์ ต้องหนีไปยังสแกนดิเวียร์ เพราะถูก "เจ้าชายยาโรโพล์ก" (Prince Yaropolk) เจ้าผู้ครองแคว้นเคียฟ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดใช้กำลังยึดอำนาจ เจ้าชายวลาดิเมียร์จึงต้องไปซ่องสุมกำลังอยู่ที่แดนไวกิง
ก่อนที่จะยกทัพมายึดเอานอฟโกรอฟคืนจากเจ้าชายยาโรโพล์กได้สำเร็จในปี ค.ศ. 980 (พ.ศ. 1523) และได้สังหารเจ้าชายยาโรโพล์ก ซึ่งเป็นพี่น้องของตนเองในฐานทรยศ และได้สถาปนาตนเองเป็นเจ้าเหนือชาวรุสทั้งปวง และเริ่มขยายดินแดนไปยังอาณาจักรข้างเคียง
6. การเปลี่ยนศาสนา
เจ้าชายวลาดิเมียร์มีพระชายาหลายพระองค์ และก่อนจะรับศาสนาคริสต์ฯเข้ามา ก็ทรงมีการแต่งงานกับคนนอกศาสนาหลายครั้ง จนกลายเป็นพ่อที่มีลูกชายจำนวนกว่า 13 คน (หรือมากกว่านั้น) พระองค์นับถือความเชื่อแบบดั้งเดิม และบูชาเทพเจ้าของชาวสลาฟ
จนกระทั่ง "จักรพรรดิบาซิลที่ 2" (Basil II) แห่งไบแซนไทน์ ได้มาขอความช่วยเหลือให้ไปช่วยปราบเหล่าคนเถื่อน ที่ออกอาละวาดในดินแดนโรมันตะวันออก โดยจะแลกกับน้องสาวคือ "เจ้าหญิงแอนน์" ให้แต่งงานกับเจ้าชายฯ และจะต้องหันมานับถือคริสต์ศาสนาด้วย
แต่บางสำนวนก็บอกว่า เจ้าชายฯนำกองกำลังคนเถื่อนบุกไปบีบบังคับ ให้จักรพรรดิไบแซนไทน์ยกน้องสาวให้เป็นชายาตนเอง แต่ถึงยังไงสุดท้ายแล้วทั้งสองฝ่ายก็ยอมรับข้อตกลงกัน พอในปี ค.ศ. 987 (พ.ศ. 1530) เจ้าชายฯก็ได้เข้ารับพิธีรับศีลล้างบาปที่ไครเมีย และสั่งทำลายรูปเคารพต่างๆของชาวบ้าน และให้ประชาชนเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์แทน
7. สองชนชาติต่างอ้างเป็นเจ้าของ
และทั้งยูเครนกับรัสเซียล้วนเชื่อว่าเจ้าชายวลาดิเมียร์นั้น คือต้นสายความเป็นมาของชนชาติตน ต่างฝ่ายก็ต่างอ้างว่าตน "เป็นเจ้าของ" วีรบุรุษพระองค์นี้แต่ฝ่ายเดียว บางก็ว่าเรื่องราวของเจ้าชายฯ เป็นเพียงตำนานปรัมปราจนเล่ากันเสียเยอะ และได้เผยแพร่ไปในวงกว้าง
โดยคนแต่งก็คือ "บาทหลวงชาวเคียฟ" เมื่อปี ค.ศ. 1674 (พ.ศ. 2217) นี่เอง โดยคนแต่งพยายามจะบอกว่า "พระเจ้าซาร์แห่งมอสโคว" เป็นทายาทโดยชอบธรรมที่จะสืบสายเลือดมาจากเจ้าชายแห่งเคียฟ ในยุคที่มองโ...ังไม่ได้ก่อกำเนิด เพื่อหวังจะโน้มน้าวให้พระเจ้าซาร์แห่งมอสโคว ในสมัยนั้นให้การปกป้องเคียฟ
8. ตำนานได้สร้างความเจ็บปวด
ถึงแม้ตำนานของเจ้าชายฯ จะถูกแต่งขึ้นจะด้วยวัตถุประสงค์ใด หรือเพื่อแอบแฝงทางการเมืองก็ตาม หลังสิ้นสุดรัชสมัยของพระองค์หลายร้อยปี ก็ย่อมมีคนตั้งข้อสงสัยว่า เรื่องราวดังกล่าวเป็นความจริง-เท็จหรือไม่ ? และน่าเชื่อถือประการใด ซึ่งมันก็คงเหมือนกับพงศาวดารของหลายๆชาติที่มีกัน แต่ที่แน่ๆเรื่องแต่งนี้ที่เป็นความหวังดีของบาทหลวงชาวเคียฟ
ก็ได้กลายมาเป็นดาบสองคม ที่ทำให้รัสเซียยึดถือจากพระคัมภีร์ ในการอ้างสิทธิเหนือดินแดนของชนชาติสลาฟตะวันออก และมองว่ายูเครนเป็นรัฐที่ควรจะตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัสเซีย แม้การอ้างว่าเจ้าชายวลาดิเมียร์แห่งเคียฟ คือบรรพบุรุษของชาวรัสเซีย
ก็คงไม่เท่ากับความเจ็บปวดของชาวยูเครน ที่รัสเซียกำลังจะผนวกภูมิภาคไครเมีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ตามตำนานระบุว่า..เป็นดินแดนที่เจ้าชายวลาดิเมียร์ได้รับศีลล้างบาป เพื่อให้ไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียนั่นเอง
ขอบคุณภาพต่างจาก : google