รู้หรือไม่ พืชก็ส่งเสียงได้เหมือนกันนะ
รู้หรือไม่ พืชก็ส่งเสียงได้เหมือนกันนะ
เวลาที่หยุดหงิด ไม่ได้ดั่งใจ บางครั้งพวกเราก็มีสบถ หรือส่งเสียงที่ไม่พอใจออกมาบ้างใช่ไหมคะ ยิ่งตอนที่หวยออกแล้วเฉียดไปนิดเดียวนี่ เสียงกริ๊ดจากความผิดหวังก็จะดังอย่างเจ็บแสบเป็นพิเศษ
แต่ถ้าจะพูดถึงว่า พืช หรือต้นไม้ก็มีการส่งเสียงได้เหมือนกัน อันนี้ก็ดูจะไม่น่าเชื่อเลย เพราะตั้งแต่เกิดจนโตมา ไม่เคยได้ยินเสียงจากต้นไม้ที่ไหน
มีข้อมูลที่น่าสนใจ คืองานวิจัยใหม่ พบว่า พืชไม่ได้เงียบนะคะ จะส่งเสียงรัว ในเวลาที่เครียดหรือหิวน้ำ (แต่เป็นเสียงที่มนุษย์ไม่ได้ยินค่ะ) The matter สรุปช้อมูลไว้ดังนี้
งานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cell โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University) ในอิสราเอล ค้นพบว่า พืชอย่างต้นมะเขือเทศและต้นยาสูบ หากมีความเครียด จากการหิวน้ำหรือโดนตัดราก จะส่งเสียงดังแป๊กๆ ในความดังเท่ากับมนุษย์คุยกัน ที่ความถี่ประมาณ 35-50 ครั้งต่อชั่วโมง ส่วนต้นไม้ที่ไม่เครียด ส่วนใหญ่ก็จะเงียบไม่มีเสียงใดๆ
สำหรับสาเหตุที่มนุษย์จะไม่ได้ยินเสียงของพืชนั้น เป็นเพราะมันคือคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) มีความถี่อยู่ที่ 40-80 กิโลเฮิร์ตซ์ (หูมนุษย์จะได้ยินสูงสุดที่ประมาณ 20 กิโลเฮิร์ตซ์) อย่างไรก็ดี นี่เป็นเสียงที่สัตว์บางชนิดอาจจะได้ยินได้ เช่น ค้างคาว หนู และผีเสื้อกลางคืน จนมีการตั้งคำถามว่า เสียงพวกนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของพวกมันด้วยหรือเปล่า?
การตั้งคำถามที่ว่านี้ถือเป็นทิศทางการวิจัยที่น่าสนใจ เพราะก่อนหน้านี้ ก็เคยมีการบันทึกการสั่นแบบคลื่นเสียงความถี่สูงในพืชมาก่อนแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พบว่าเสียงของมันเดินทางผ่านอากาศ (airborne) ได้ด้วย ซึ่งก็อาจจะเป็นหลักฐานว่าพืชใช้เสียงเป็นช่องทางในการสื่อสารกับพืชต้นอื่นๆ แมลง หรือสัตว์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน
พืชส่งเสียงได้ยังไง? จริงๆ แล้วนักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจกลไกของมันอย่างชัดเจน ที่แน่ๆ คือ พืชไม่มีกล่องเสียงหรือปอด ทฤษฎีที่เชื่อถือกันในปัจจุบันคือ เสียงเกิดจาก ‘ไซเลม’ (xylem) หรือท่อลำเลียงน้ำ ซึ่งจะดูดน้ำไปตามลำตัวพืชคล้ายหลอด แต่พอมันแห้ง เช่นเวลาขาดน้ำ ก็จะเกิดเป็นฟองอากาศขึ้นมา ทำให้เกิดเสียงแป๊กๆ แต่อย่างไรก็ดี นักวิจัยก็ยังบอกว่า เรื่องนี้ต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังต่อไป
“ข้อเท็จจริงที่ว่าพืชส่งเสียงนั้น เปิดช่องทางโอกาสใหม่ๆ จำนวนมาก สำหรับการสื่อสาร การดักฟัง และการใช้ประโยชน์จากเสียงเหล่านี้” ยอสซี โยเวล (Yossi Yovel) ผู้ร่วมวิจัยและนักนิเวศวิทยาประสาท (neuro-ecologist) จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ กล่าว