เมืองที่มีอายุการเป็นเมืองหลวงสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากอีกประเทศหนึ่ง
ผ่านเรื่องราวและความเปลี่ยนแปลงมามากมาย
โดยหนึ่งในเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติ
ก็คือการ 'เปลี่ยนเมืองหลวง' วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จัก
กับอดีตเมืองหลวงของไทย ที่ได้ครองสถิติเป็นเมืองหลวงสั้นที่สุด
อดีตเมืองหลวงแห่งนี้ คือ 'จังหวัดธนบุรี' หรือกรุงธนบุรี
เป็นจังหวัดในอดีตที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับจังหวัดพระนคร
ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี จนกระทั่ง พ.ศ. 2514 ได้มีการรวมจังหวัดธนบุรี
เข้ากับจังหวัดพระนคร เป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง
เป็น 'กรุงเทพมหานคร' เมื่อปี พ.ศ. 2515
ในอดีต กรุงธนบุรี หรือ จังหวัดธนบุรี เป็นราชธานีไทย
ในระหว่างปี พ.ศ. 2310 - 2325 โดยตั้งอยู่ ณ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่เมืองธนบุรีเดิม หลังจากกรุงศรีอยุธยาต้องเสียกรุงแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2310 แล้ว
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ได้ทรงสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ขึ้น
พระราชทานนามว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" เมื่อจุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก
ตรงกับ พ.ศ. 2310 จวบจนถึง พ.ศ. 2325 นับเป็นเวลาแห่งราชธานีเพียง 15 ปีเท่านั้น
ในฐานะของเมืองหลวง
กรุงธนบุรีจึงถือเป็นเมืองหลวงที่มีอายุสั้นที่สุด
เมื่อเปรียบเทียบกับ กรุงสุโขทัย ที่เป็นเมืองหลวงนาน 236 ปี
กรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองหลวงนาน 416 ปี และกรุงเทพมหานคร
ที่เป็นเมืองหลวงมาแล้วเป็นปีที่ 241