วิวัฒนาการของเกย์ไทย
คำว่า "เกย์" ปรากฎในสังคมตะวันตกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 และถูกใช้เป็นคำเรียกเพื่อบ่งบอกว่าคนรักชอบเพศเดียวกัน และแตกต่างจากหญิงและชาย อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาทางวัฒนธรรม คำว่า "เกย์" อาจใช้ได้เฉพาะสังคมที่มีการนิยามและจัดระเบียบอารมณ์ความปรารถนาทางเพศ เช่นในสังคมยุโรปและอเมริกา ซึ่งเชื่อว่าความรู้สึกรักเพศเดียวกันมีแก่นแท้ในตัวเองและบุคคลสามารถหยั่งรู้ได้จากจิตสำนึก ความรู้สึกนี้ บางทีถูกนิยามด้วยคำว่า "โฮโมเซ็กช่วล"
สังคมเกย์ไทย เริ่มต้นมาอย่างไรบ้าง แบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคแรก ช่วงปี 2499-2537, ยุคที่สอง ช่วงปี 2538-2552 และยุคที่สาม ช่วงปี 2553 ถึงปัจจุบัน
- เกย์ไทยในยุค พ.ศ. 2499-2537 ถูกครอบงำด้วยแนวคิดตะวันตกซึ่งมองพฤติกรรมและอัตลักษณ์โฮโมเซ็กช่วลว่าเป็นปัญหา โดยเฉพาะการศึกษาที่มาจากกลุ่มแพทย์และนักจิตวิทยา ซึ่งใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายว่าเกย์คือคนที่ผิดปกติทางเพศ ในยุคนี้ถือว่าเป็นยุคมืดของเกย์ไทย เกย์ไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง และส่วนใหญ่มีพฤติกรรมไม่แสดงออก คนที่แสดงออกจะถูกมองว่ามีความผิดปกติทางเพศ และบางทีถูกเรียกนิยามว่าเป็น ตุ๊ด หรือ กะเทย เกย์ส่วนใหญ่ในยุคนี้มักจะมีความสัมพันธ์อย่างลับๆ ไม่มีพื้นที่ของการแสดงออกในสังคม ไม่มีสถานที่นัดเจอกันเฉพาะกลุ่ม และคนเป็นเกย์ส่วนใหญ่มักจะอยู่ตัวคนเดียว หรือมีก็เป็นความสัมพันธ์อย่างลับๆ ไม่เปิดเผยในสังคม ในยุคนี้มีวารสารเกย์ที่พอจะเป็นที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม มีคอลัมน์หาคู่เพื่อติดต่อกัน แต่ก็ถือว่า สังคมเกย์เป็นสังคมปิดและแคบมาก
- เกย์ไทยในช่วงปี 2538-2552 สังคมมีความคิดในเชิงลบเกี่ยวกับเกย์ลดน้อยลง การแสดงออกของเกย์ในพื้นที่ทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การมีตัวละครเกย์ในละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ละครเวที นวนิยาย บทเพลง รวมทั้งการขยายตัวของสถานประกอบการเกย์ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ และภูเก็ต ทำให้เกย์มีพื้นที่พบปะกันมากขึ้น สถานที่นัดเจอกันเฉพาะของกลุ่มเกย์ตามสถานบันเทิง เช่น ซาวน่า ดิสโก้เธค ผับ คาราโอเกะ เครือข่ายเหล่านี้มีความสำคัญต่อการแสวงหาคู่และการมีเพศสัมพันธ์ของเกย์ ความสัมพันธ์ทางสังคมของเกย์จะมีหลายระดับ คือ ระดับคู่ขาแบบชั่วคราว ระดับเพื่อน และระดับคนรัก เกย์ส่วนใหญ่ที่รู้จักคนแปลกหน้า มักจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นเพื่อน และมีส่วนน้อยเท่านั้นที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นคนรัก
- เกย์ไทยช่วงปี 2553 ถึงปัจจุบัน เกย์ไทยมีการสร้างพื้นที่ของตัวเองเพิ่มขึ้นมาก สามารถแสดงออกทางเพศตามที่ตนเองต้องการ มีพื้นที่ในการแสดงออกทางเพศได้ง่าย สังคมเกย์มีการนัดเจอคนในกลุ่มเฉพาะจากทางอินเตอร์เน็ต หรือตามแอพพลิเคชั่นเกย์ องค์กรเกย์ไทยมีเอกภาพและสามารถเป็นตัวแทนที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้เพื่อสิทธิของเกย์ไทยทั้งหลายได้ ถือว่าเกย์ในช่วงนี้เป็นยุคที่มีความหลากหลายทางเพศที่ยอมรับได้ในสังคม มีเสรีภาพในการแสดงออก เกย์มีการเปิดเผยสถานภาพในสังคมมากขึ้น วัฒนธรรมเกย์สามารถพบได้ทั่วไปในสังคม จนสามารถแพร่หลายและส่งออกวัฒนธรรมไปต่างประเทศได้ เช่น วรรณกรรม นิยาย เรื่องสั้น ละคร ภาพยนตร์ ซีรีย์วาย และอินเตอร์เน็ต เป็นต้น สังคมไทยยอมรับสถานภาพเกย์โดยเปิดเผย ไม่มีการปิดกั้น ถือว่าเป็นการแสดงออกตามเสรีภาพส่วนบุคคล และเริ่มมีแนวคิดการแก้ไขกฎหมายเฉพาะเพื่อกลุ่มเกย์ มีแนวความคิดเรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในสังคม เช่น มีร่าง พรบ. คู่ชีวิต เป็นต้น