คนไทยแก่ก่อนรวย รายได้ไม่พอใช้ ประเทศขาดแคลนแรงงาน
ผลการศึกษาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย มีความเป็นห่วงสถานการณ์คนไทยแก่ก่อนรวยชาติแรกๆในโลก
ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2543 แล้ว โดยมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 14 ในปี 2565 และเป็นร้อยละ 20 ในปี 2578 ซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุ "รุนแรง" เหมือนประเทศญี่ปุ่น
จากการศึกษาประเทศไทยเป็นประเทศที่แก่เร็ว โดยสัดส่วนคนไทยสูงอายุเพิ่มเป็น 2 เท่า โดยใช้เวลาเพียง 20 ปีเท่านั้น ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้เวลาร่วม 100 ปี
นอกจากนี้ พบว่าผู้สูงอายุไทยมีรายได้และการศึกษาน้อยกว่าประเทศอื่น เนื่องจากชาติที่แก่ก่อนหน้าเรา เช่น ญี่ปุ่น หรือยุโรปหลายประเทศ เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้ระดับสูงจากอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง เป็นหลัก ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ใช่แบบนั้น แนวโน้มคนไทยจึงแก่ก่อนรวยสูง
ขณะที่การเตรียมความพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากพอ การหาเสียงเลือกตั้งของ "ทุกพรรค"ไม่มีนโยบายดูแลคนแก่อย่างมีรูปธรรม มีแต่บอกว่าจะแจกว่าจะจ่ายให้คนแก่เดือนละเท่าไหร่ แต่ไม่มีแนวทางว่า ประเทศจะหารายได้มากๆ มาจากไหนได้ รายได้ของประเทศไทยจึงไม่เพียงพอในการเลี้ยงดูคนแก่
จากผลการศึกษายังพบว่า คนไทยเริ่มออกจากตลาดแรงงานค่อนข้างเร็ว โดยคนไทยเกษียณอายุตั้งแต่อายุ 45 ปีโดยเฉพาะผู้หญิง เนื่องจากออกมาดูแลทำงานบ้าน เลี้ยงลูก
คนไทยอายุ 45- 60 ปี ที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ 20 ล้านคนจะทำงานอยู่นอกระบบ โดยเฉพาะภาคเกษตร ค้าขาย และอาชีพอิสระ เป็นหลัก ซึ่งมีความเสี่ยงด้านรายได้ที่ไม่แน่นอน ไม่มั่นคง และโอกาสเข้าถึงสิทธิ์การรักษาบริการทางการแพทย์น้อยลงด้วย
หากคนไทยออกจากตลาดแรงงานเร็วอาจจะมีผลกระทบทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานได้ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ