5 เรื่องจริงที่คนต่างจังหวัดต้องเจอ
วิถีชีวิตในเมืองหลวงและต่างจังหวัด แน่นอนว่ามีความแตกต่างกัน และมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป การจะตัดสินใจลงหลักปักฐานที่ไหนก็เป็นเรื่องของรสนิยมและความชอบส่วนบุคคล แต่วันนี้เราจะมาบอกเล่าความจริงที่คนต่างจังหวัดต้องเจอกันค่ะ
1. การเดินทางไม่ได้สะดวกสบายเหมือนกรุงเทพฯ
คนกรุงอาจจะบ่นว่าค่าเดินทางในแต่ละวันแพงแสนแพง แต่ถ้าคุณอาศัยอยู่ต่างจังหวัด ขนส่งสาธารณะมีตัวเลือกน้อยมาก ๆ ไม่ได้มีรถเมล์ที่วิ่งตลอดเวลา หรือรถไฟฟ้าที่สะดวกสบาย ยิ่งเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แล้ว ยิ่งลำบาก คนที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดจึงต้องมีรถส่วนตัวกันแม้เงินเดือนจะไม่ได้มากมาย แต่การมีรถส่วนตัวมันจำเป็นและสะดวกกว่าจริง ๆ
2. งานหายากกว่ากรุงเทพฯ
ความเจริญที่กระจุกตัวอยู่โซนเมืองหลวง ทำให้คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนเข้าไปหางานในเมืองหลวง โอกาสที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวมีน้อยมาก ๆ เพราะมีไม่กี่อาชีพให้ทำในต่างจังหวัด แถมเงินเดือนน้อยกว่าทำงานในเมืองหลวงอีกด้วย
3. สถาบันการศึกษาน้อยกว่า
จริง ๆ แล้วเด็กต่างจังหวัดหลายคนจะเริ่มออกมาใช้ชีวิตเองเมื่อตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้มีในทุกจังหวัด รวมถึงมหาวิทยาลัยดี ๆ และมีชื่อเสียงส่วนใหญ่ก็อยู่โซนเมืองทั้งนั้น เมื่อเรียนจบมัธยมแล้วคนส่วนใหญ่จึงต้องออกไปเรียนต่อที่จังหวัดใกล้เคียงหรือเข้าเมืองหลวงเลย
4. โรงพยาบาลดี ๆ มีแค่ตัวจังหวัด
โรงพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่เพียบพร้อม ก็จะเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่ถ้าเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แม้แต่โรงพยาบาลประจำจังหวัดก็ไม่สามารถรักษาโรคร้ายแรงได้ ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ของภูมิภาคนั้น ๆ อีกที
5. สิ่งอำนวยความสะดวกไม่ได้มีมากมายเท่ากรุงเทพฯ
ถ้าพูดกันโดยพื้นฐานที่คนรู้ ๆ กันอยู่แล้วคือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า แหล่งบันเทิงใจต่าง ๆ น้อยกว่าอยู่แล้ว ถ้ามองให้ลึกลงไปอีก อย่างพวกสวนสาธารณะ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ให้ความรู้ต่าง ๆ ในต่างจังหวัดนั้นหายากมาก ๆ หลายที่มีไว้แต่ขาดการทำนุบำรุง นั่นหมายถึงคนต่างจังหวัดเข้าถึงความรู้ได้ยากกว่าคนกรุงนั่นเอง
และนี่คือ 5 ความจริงที่คนต่างจังหวัดต้องเจอ และเป็นสาเหตุที่คนต่างจังหวัดหลายคนยอมอยู่ห่างกับครอบครัวและเข้ากรุงเทพฯ แทน แม้จะต้องลำบากได้กลับบ้านเฉพาะช่วงหยุดยาว แต่ในแง่ของความสะดวกและรายได้ เมืองหลวงอาจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า