นี่คือแว่นกันแดดรุ่นแรกของโลก ที่สร้างขึ้นโดยภูมิปัญญาของมนุษย์
นี่คือแว่นกันแดดรุ่นแรกของโลก ที่สร้างขึ้นโดยภูมิปัญญาของมนุษย์
หากต้องการป้องกันดวงตาจากรังสียูวี และแสงอาทิตย์ อุปกรณ์แรกๆที่เรามักจะหยิบมาใช้งานย่อมหนีไม่พ้น 'แว่นกันแดด' (Sunglasses) เนื่องจากการใส่แว่นกันแดดขณะที่อยู่กลางแจ้งจะช่วยถนอมสายตา รวมไปถึงป้องกันอันตราย หรืออาการระคายเคืองตาของเราจากแสงแดดได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม นับว่าน้อยคนมากๆที่จะทราบว่า จริงๆแล้ว แว่นกันแดดไม่ได้รับความนิยมแค่ในสมัยปัจจุบัน เพราะแว่นกันแดดนั้นมีความเป็นมาที่อาจย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว เมื่อชาวเอสกิโมได้สร้างแว่นตาประเภทหนึ่งจากงาหรือเขี้ยวของวอลรัส (Walrus) เพื่อป้องกันอาการตาบอดจากแสงสะท้อนของหิมะ
แว่นตากันหิมะ (Iggaak) ถูกใช้งานครั้งแรกโดยเผ่าดึกดำบรรพ์ที่เป็นบรรพบุรุษของชนเผ่า Inuit หนึ่งในชนเผ่าที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่มีบันทึกไว้ไนประวัติศาสตร์ ว่ากันว่านี่คือ แว่นชนิดแรกของโลก ที่สร้างขึ้นมาจากภูมิปัญญาของมนุษย์ และส่งต่อวัฒนธรรมให้กับเผ่าอื่นๆ จนแพร่หลายในเขตขั้วโลก
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า ในราวศตวรรษที่ 12 ผู้พิพากษาชาวจีนได้ทำแว่นตาที่เลนส์ทำมาจากสโมคกี้ควอตซ์ (smoky quartz) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกปิดการแสดงออกทางสีหน้าของผู้ตัดสินมากกว่าการป้องกันแสงแดด
ต่อมาช่วงกลางทศวรรษที่ 1700 ช่างประกอบแว่นในลอนดอนได้เริ่มทดลองเลนส์สีเขียวเพื่อช่วยแก้ปัญหาการมองเห็น และแน่นอนว่าสีเขียวเป็นสีที่ดีที่สุดในการปกป้องดวงตาจากแสงแดด จนกระทั่งในศตวรรษที่ 20 แว่นกันแดดสมัยใหม่อย่างที่เรารู้จัก ก็ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรกนั่นเอง