"สื่อสีรุ้ง" ในยุคอดีต
ถ้าเอ่ยถึงบรรดาสิ่งพิมพ์ในเมืองไทย นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วๆไปที่เราเคยเห็นๆกัน ก็ยังมีสิ่งพิมพ์เฉพาะกลุ่มอีกสิ่งหนึ่งนั่นก็คือ "สื่อชาวสีรุ้ง" ซึ่งไม่ได้หมายถึงสิ่งพิมพ์แนวสดใสวัยรุ่นจ้าอะไร แต่เป็นสิ่งพิมพ์ที่เน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายสำหรับ "กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน" หรือที่เราเรียกกันว่า "ชาวสีม่วง"
1. LGBT (Lesbian Gay Bisexual Transgender)
จนในยุคปัจจุบันเพื่อเป็นการปรับทัศนคติที่ดีขึ้น ต่อความหลากหลายทางเพศจึงใช้สีรุ้งเป็นสีประกอบทั้ง 7 สีเป็นเชิงสัญลักษณ์ จากที่เคยคิดว่าเป็นความวิปริตเบี่ยงเบน หรือคือคนที่มีปัญหาทางจิตต้องได้รับการบำบัด ก็ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่าเป็นเพียงรสนิยมที่แตกต่างหลากหลายในวิถีชีวิต ไม่ใช่เป็นโรคจิตแต่อย่างใด
ดังนั้นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศจึงถูกเรียกย่อว่า "LGBT" (Lesbian Gay Bisexual Transgender) ซึ่งมีวัฒนธรรมย่อยของพวกเขาเอง ที่แทรกอยู่ในมุมต่างๆของสังคม ไม่ว่าจะการสื่อสาร, แหล่งท่องเที่ยว, รวมถึงวรรณกรรมต่างๆของคนกลุ่มนี้
2.บทลงโทษของสังคมไทยในอดีต
ถ้าเอ่ยถึงเรื่องราวในคนรักเพศเดียวกันในสังคมไทย นับตั้งแต่กฎมนเทียรบาลที่ระบุใน "กฎหมายตราสามดวง" จะเอ่ยถึงการลงทัณฑ์หญิงชาววังว่า...หากเล่นชู้ประดุจชายหญิง ก็จะได้รับโทษให้ตัดคอ หรือในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินท์รัชกาลที่ 3 โดย "เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี" ก็ได้กล่าวถึง "กรมหลวงรักษรณเรศ" ที่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ ข้อหาคือการเล่นสวาทกับเจ้าละคร (คณะโขนละครผู้ชาย)
เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี
3.โครงการอนุรักษ์มรดกสีรุ้ง
เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2550 เพื่อเป็นการรวบรวมความรู้ด้านความหลากหลายทางเพศ โดยร่วมมือกับองค์กรที่ทำงานด้านนี้ และมี "รศ.ดร.ปีเตอร์ แจ็คสัน" (นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาเรื่องราวของความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยมายาวนาน
เพื่อหวังว่าการอนุรักษ์มรดกสีรุ้งนั้น จะนำไปสู่การถือกำเนิดของศูนย์ข้อมูลความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทย (Thai Queer Resources Centre) โดยมีหน้าที่เก็บรวบรวมสื่อนานาชนิดไม่ว่าจะสิ่งพิมพ์, ภาพยนตร์, เพลง, หนังสั้น, หรือรายการโทรทัศน์ต่างๆ
4.ชาวสีรุ้งเป็นกลุ่มคนที่มีประวัติศาสตร์
รศ.ดร.ปีเตอร์ แจ็คสัน กล่าวว่าบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆในโลก มักจะมีแต่เรื่องราวของผู้มีอำนาจ แต่ประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มน้อยต่างๆมักจะถูกมองข้ามเสมอ เช่นกันคนรักเพศเดียวกันก็มักจะถูกมองข้ามเสมอเช่นกัน ไม่มีห้องสมุดหรือหอจดหมายเหตุที่ไหนเก็บข้อมูลรวบรวมชาวสีรุ้ง
เพราะเขามองว่าเป็นเอกสารที่ไม่มีความสำคัญ ทั้งนี้คงเพราะทัศนคติที่มองว่าความเบี่ยงเบนทางเพศเป็นสิ่งผิดปกตินั่นเอง แต่จริงๆแล้วชาวสีรุ้งเป็นกลุ่มคนที่มีประวัติศาสตร์ และมีความสำคัญมากในวัฒนธรรมสมัยนิยม (Popular Culture) โดยชาวสีรุ้งเป็นผู้ริเริ่มเก็บเอกสารและข้อมูลเอาไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นสิ่งที่มีค่าเหล่านี้คงสูญหายไปในไม่ช้า
5.สื่อสิ่งพิมพ์ชาวสีรุ้งที่เก่าแก่ที่สุด
รศ.ดร.ปีเตอร์ฯ ได้เอ่ยถึงหน้าปกหนังสือเล่มหนึ่งคือเรื่อง "เผยชีวิตดาวกะเทยยอด..." พิมพ์เมื่อปี 2497-2498 แต่เรื่องราวเกิดขึ้นมานานก่อนหน้านั้น ถือเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เล่มที่เก่าแก่ที่สุด ที่พบว่าเป็นเรื่องของกะเทยที่เป็นตัวเดินเรื่อง เป็นชีวประวัติของกะเทยคนหนึ่งที่เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ เมื่อประมาณ 80 ปีก่อน และเป็นเจ้าของกิจการซ่องโสเภณี แต่น่าเสียดายมีแต่ภาพที่ได้จากแฟ้มของคุณเอนก นาวิกมูล แต่หนังสือฉบับจริงนั้นหายไปแล้ว
6.ยุคหนังสือชาวเกย์
สำหรับชาวเกย์ก็คงจะรู้จักคอลัมน์ "ชีวิตเศร้าชาวเกย์" และคุยกับอาโก๋ (ตอบปัญหาหญิงรักหญิง) ของ "โก๋ ปากน้ำ" ในหนังสือแปลก เป็นคอลัมน์ที่ตอบปัญหาเรื่องของชาวเกย์ยอดฮิตในยุคสมัยนั้น ที่ถือว่าเป็นยุคแรกๆที่เริ่มมีเรื่องราวเกี่ยวกับเกย์ และทำให้หนังสือแปลกเป็นหนังสือที่ดังมาก จนได้รวมพิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กชื่อ "ชีวิตเศร้า"
7.เริ่มมีหนังสือนู้ด
จากนั้นในช่วง 30 ปีหลังก็เริ่มมีสื่อสิ่งพิมพ์ เกี่ยวกับชาวสีรุ้งมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะนวนิยาย เรื่องสั้น และบางสิ่งพิมพ์เฉพาะกลุ่มบางเล่มก็เข้าข่ายอนาจาร ซึ่งสำหรับหนังสือเกย์ที่โด่งดังเป็นที่นิยมในอันดับต้นๆได้แก่ "นีออน, มรกต, มิถุนา, มิดเวย์ ฯลฯ
ที่นิยมเอารูปชายหนุ่มหล่อแนวนู้ดมาขึ้นปก จนได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งขายบนแผงและใต้แผง และหลายหลายดีกรีความแรง จนมีอีกหลายสิบหัวหนังสือที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องในเวลานั้นจนถึงปัจจุบัน
8.ส่วนแนวหญิงรักหญิง
สำหรับกลุ่มแนวหญิงรักหญิงนั้น ไม่ว่าจะวรรณกรรม สื่อ หรือสิ่งพิมพ์นั้น นับว่ามีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับของเกย์ โดยผู้ที่รวบรวมไว้ก็คือ "คุณฉันทลักษณ์ รักษาอยู่" (แห่งกลุ่มสะพาน) ซึ่งเป็นผู้ทำงานในวงวรรณกรรม ถ้าจะยกตัวอย่างหนังสือในอดีตโดยเฉพาะปกที่ใครเห็นก็ต้องกรี๊ดก็คือ "เธอกับฉัน" ที่มีพี่ปุ๊อัญชลี จงคดีกิจ ถ่ายคู่กับคุณนิตย์ เป็นเล่มที่น่าจะออกมาในช่วงที่คำว่า "ทอม-ดี้" เริ่มเป็นที่รู้จักในบ้านเรานั่นเอง
ขอบคุณภาพต่างๆจาก : google