จังหวัดของกัมพูชาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอดีตจังหวัดในประเทศสยาม
ตามประวัติศาสตร์การปกครองของไทย มีการเปลี่ยนแปลง
การแบ่งเขตการปกครองอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องการแบ่ง 'จังหวัด'
ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยเกิดขึ้นจากหลายเหตุผล
ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในสมัยนั้น ในเรื่องของจังหวัดนี้เอง
ที่มีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับจังหวัด ที่ปัจจุบันกลายเป็น 'อดีต' ไปแล้ว
โดยหนึ่งในนั้นคือการกลายเป็นอดีต เนื่องจากกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอื่นไป
และอดีตจังหวัดของไทยที่ถูกพูดถึงอยู่ไม่น้อยก็คือ 'จังหวัดพระตะบอง'
พระตะบอง หรือ บัตดอมบอง
(Battambang Province)
เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศกัมพูชา อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ
มีเขตติดต่อกับจังหวัดสระแก้วและจังหวัดจันทบุรีของประเทศไทย
พื้นที่นี้อดีตเคยเป็นจังหวัดพระตะบองในมณฑลบูรพาของสยาม
โดยในปี พ.ศ. 2484 หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทอินโดจีนไทย-ฝรั่งเศส
ไทยได้ดินแดนส่วนที่เรียกว่าเขมรส่วนในและลาวฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืน
จึงได้ประกาศจัดตั้งจังหวัดขึ้นใหม่ในดินแดนเหล่านี้ 4 จังหวัดคือ จังหวัดพระตะบอง,
จังหวัดพิบูลสงคราม, จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง
เฉพาะจังหวัดพระตะบองนั้นเมื่อแรกตั้งจังหวัดนั้น ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ
ไทยคืนดินแดนที่ได้มาเหล่านี้ รวมทั้งพระตะบอง ให้ฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
และพระตะบองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาเมื่อได้รับเอกราช
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2496 ได้มีการจัดตั้งเขตบริหารปอยเปต (Poi Pet administration)
โดยอยู่ภายใต้การปกครอง ของเมืองศรีโสภณ
(เมืองนี้ได้ถูกแบ่งเป็น 2 เมืองในปีนั้น คือ เมืองศรีโสภณและเมืองบันทายฉมาร์)
ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองชื่อว่า เมือง O Chrov
ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2508 และในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ได้มีการแบ่งเขตการปกครอง
ของเมืองระสือ ส่วนหนึ่งออกเป็นเขตการปกครองใหม่ คือ เขตบริหาร Kors Kralor
หลังจากนั้น รัฐบาลกัมพูชาก็ได้ตั้งเมืองถมอปวก (Thmar Pouk)
ขึ้นเป็นเมืองในความปกครองของจังหวัดพระตะบอง
และได้แบ่งเมืองบันทายฉมาร์ไปขึ้นกับจังหวัดอุดรมีชัยซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในปีนั้น