สัตว์ป่าสงวนของไทยชนิดแรกที่ถูกยืนยันว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว
ในตำราเรียนที่เราเคยได้เห็นตั้งแต่เด็ก หลายคนคงยังจำได้กับเรื่อง'สัตว์ป่าสงวนของไทย' ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายากที่ทางการได้ออกกฎหมายคุ้มครองไว้ ซึ่งในตำราเก่ามีอยู่ทั้งหมด 15 ชนิด (ปัจจุบันเพิ่มเป็น 20 ชนิด) โดยหนึ่งในนั้นคือ'สมัน' กวางที่มีเขาสวยงามมากที่เราเคยได้เห็นแค่ในรูป เพราะในความเป็นจริง สมันที่อยู่ในรายชื่อสัตว์สงวนของไทยนั้น เป็นสัตว์ที่ 'สูญพันธุ์ไปแล้ว' อย่างน่าเสียดาย
สมัน (Schomburgk's deer) เป็นกวางขนาดกลาง มีเขาสวยงามมาก จนได้ชื่อว่าเป็นกวางที่สวยงามที่สุดชนิดหนึ่งของโลก มีน้ำหนักอยู่ในช่วง 100 -120 กิโลกรัมมี ความยาวลำตัวประมาณ 180 เซนติเมตร ความสูงหัวไหล่ 104 เซนติเมตร หางยาว 10 เซนติเมตร ขนหยาบสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างลำตัวและบริเวณแก้มจางกว่า บริเวณจมูกสีเข้มหรือสีดำ สีบริเวณขาและหน้าผากค่อนข้างอมแดง ใต้หางสีขาว ขนแผงคอยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
สมันถือเป็นสัตว์สัญชาติไทยโดยแท้จริง เพราะพบได้ในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น กระจายพันธุ์อยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สมุทรปราการ ขึ้นไปจนถึงสุโขทัย ตะวันออกสุดถึงจังหวัดนครนายก และฉะเชิงเทรา ทางตะวันตกพบถึงสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี
ประชากรสมันลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 2475 เนื่องจากถูกล่าเอาเขา โดยมีบันทึกว่าสมันตัวสุดท้ายในธรรมชาติ อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ถูกยิงตายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้นจึงเหลือเพียงสมันในกรงเลี้ยงเท่านั้น แต่น่าเศร้าที่การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงทำไม่สำเร็จ จึงไม่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นได้อีก
สมันตัวสุดท้ายในโลก เป็นสมันตัวผู้ที่เลี้ยงอยู่ในวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเชื่อกันว่า ถูกชายขี้เมาคนหนึ่งตีตายในปี พ.ศ. 2481 หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นสมันอีกเลย แม้จะมีข่าวลือว่าพบสมันอีกในที่ต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้
ซากที่สมบูรณ์ของสมันมีเพียงซากเดียวเท่านั้น เก็บอยู่ที่กรุงปารีส ซึ่งเป็นซากของสมัน ตัวที่อาศัยอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์ Jardin des Plantes ของประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2410