นกสายพันธุ์หายากของไทยที่เชื่อว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากโลก
แม้ประเทศไทยจะขึ้นชื่อเป็นอย่างมากในเรื่องความอุดมสมบูรณ์
และความหลากหลายทางธรรมชาติ โดยเฉพาะสายพันธุ์สัตว์
แต่ก็มีสัตว์ในไทยอยู่หลายชนิดเช่นกัน ที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก
และบางอย่างนั้น 'อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว' อย่างเช่นนกชนิดนี้
'นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร' หรือ 'นกตาพอง'
(White-eyed River-Martin, ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseudochelidon sirintarae)
เป็นนกจับคอนหนึ่งในสองชนิดของสกุลนกนางแอ่นแม่น้ำ ในวงศ์นกนางแอ่น
พบบริเวณบึงบอระเพ็ดในช่วงฤดูหนาวเพียงแห่งเดียวในโลก
แต่อาจสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง
มีสีดำออกเขียวเหลือบตะโพกขาว หางมีขนคู่กลาง มีแกนยื่นออกมา
เป็นเส้นเรียวแผ่ตรงปลาย วงรอบตาสีขาวหนา ปากสีเหลืองสดออกเขียว
ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน แต่นกวัยอ่อนไม่มีขนหางคู่กลาง
มีแกนยื่นออกมา สีขนออกสีน้ำตาลมากกว่านกโตเต็มวัย
พฤติกรรมเป็นที่ทราบน้อยมากรวมถึงแหล่งผสมพันธุ์วางไข่
คาดว่าเหมือนนกนางแอ่นชนิดอื่นที่บินจับแมลงกินกลางอากาศ
และเกาะคอนนอนตามพืชน้ำในฤดูหนาว
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกเฉพาะถิ่น (endermic)
ที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลก คือที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์
จากรายงานการพบเห็นในปี พ.ศ. 2515, 2520 และ 2523
และก็ไม่มีการพบเห็นอีกเลยจนปัจจุบัน คาดการณ์กันว่า
นกสายพันธุ์ดังกล่าวอาจสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยหรือจากโลก
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ถือเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 20 ชนิดของไทย
ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. 2535
ร่วมกับพะยูน แมวลายหินอ่อน นกแต้วแร้วท้องดำ และนกกระเรียน