ฉันจะใช้ชีวิตอย่างไรเมื่อรู้ว่าเป็นไตวายระยะสุดท้ายตอนอายุ20
สวัสดีค่ะ อันดับแรกต้องบอกไว้ก่อนนะคะว่า บทความข้างล่างนี้
ฉันเขียนขึ้นประมาณ 10 ปีที่แล้ว เมื่อตอนที่ฉันป่วยเป็นไตวายระยะสุดท้าย
และกำลังรักษาตัวอยู่ และปัจจุบันฉันได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่มา 2 ปี 9 เดือนแล้วค่ะ
(ได้ไตจากผู้บริจาคผ่านสภากาชาดไทย) อยากลงไว้เพื่อส่งต่อกำลังใจให้กับทุกคน
ที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ใจ ไม่ว่าในเรื่องใดก็ตามนะคะ ขอให้ผ่านทุกปัญหาไปได้ ด้วยกำลังใจค่ะ
อยู่กับโรคไตด้วย พลังและกำลังใจ
การเจ็บป่วย เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่พึงปรารถนาและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้าหากมันเกิดขึ้นแล้ว
เราก็ต้องรักษาหรือดูแลตัวเองให้หายดี เพื่อที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้ให้นานที่สุดและมีความสุขที่สุด
เมื่อตอนที่ฉันอายุ 20 ปีซึ่งกำลังเรียนพยาบาลอยู่ชั้นปีที่ 1เทอม 2 ก็เกิดอาการหน้าบวม แขน และขาบวม
จึงไปตรวจที่โรงพยาบาล ผลปรากฏว่าฉันป่วยเป็น ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของฉัน
จากหน้ามือเป็นหลังมือไปเลย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ฉันรู้สึกเสียใจและท้อแท้เป็นอย่างมาก
ถึงแม้ว่าช่วงที่รู้ว่าป่วยเป็นโรคนี้ จะได้รับกำลังใจจากหลายๆคนไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์
และพี่ๆเพื่อนๆสถาบันเดียวกันก็ตาม แต่ฉันก็รับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น รู้สึกว่ามันรวดเร็วเกินไปที่จะรับได้ไหว
ช่วงเวลาที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลฉันมีความทุกข์และทรมานมากทั้งร่างกายและจิตใจ
ทุกข์กายเพราะด้วยการรักษา ฉันต้องโดนเจาะเลือด เจาะคอ ฉีดยา เจาะไตและสารพัดวิธีการรักษา
มันทำให้ร่างกายของฉันได้รับความเจ็บปวดและทรมานมาก
ส่วนภาวะด้านจิตใจของฉันก็ไม่ต่างกัน ฉันต้องใช้เวลานานมากที่จะต้องทำใจยอมรับเรื่องนี้ให้ได้
เพราะนอกจากจะต้องทำใจยอมรับโรคร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว
ยังต้องทำใจในเรื่องเรียนและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอีกด้วย
ฉันต้องทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวงอย่างเจ็บปวดและหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อรู้ว่าโรคที่ฉันเป็นรักษาไม่หายขาดเพราะหมอบอกว่าอยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว
นั่นทำให้ฉันรู้ได้ทันทีว่าชีวิตของฉันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย
แต่ฉันก็คิดว่าจะไม่ท้อ เพราะปัญหามีไว้แก้ไข
ถ้าเราวิ่งหนีปัญหาในวันนี้วันต่อๆไปเราก็จะไม่กล้าเผชิญหน้ากับมัน
ถ้าหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงต่างๆชีวิตก็ไม่มีโอกาสพบเจอสิ่งแปลกใหม่
เราต้องกล้าหาญที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง
เมื่อใดที่เราสามารถยอมรับและเข้าใจในความอ่อนแอของเราได้
เมื่อนั้นเราจะเข้มแข็งและไม่มีวันอ่อนแอไปกว่านั้นได้อีก
การทำใจจะไม่ยากเลย ถ้าเรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจ
ฉันพยายามควบคุมสติและความเสียใจไว้แล้วหาวิธีแก้ไขปัญหาของฉันด้วยการสอบถามวิธีการรักษาโรคไตจากหมอ
ซึ่งหมอได้บอกว่ามีวิธีรักษาอยู่ 3 วิธี คือ
1.ฟอกเลือด 2.ล้างไตทางหน้าท้อง และ 3.การปลูกถ่ายไต
ซึ่งการปลูกถ่ายไตนั้นจะต้องรอให้มีผู้บริจาคเพราะฉันมีหมู่เลือดที่ไม่ตรงกับคนในครอบครัวเลย
ดังนั้นจึงเลือก การล้างไตทางหน้าท้องในการรักษาตัว เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย
เพราะการฟอกเลือดค่าใช้จ่ายจะสูงมาก
การล้างไตทางหน้าท้องหรือที่เรียกว่าการทำ CAPD จะเน้นความสะอาดและตรงต่อเวลา
เนื่องจากต้องล้างไตวันละ 4 ครั้งต่อวัน โดยการใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องครั้งละ 2 ลิตร
ซึ่งการมีน้ำเข้าไปอยู่ในช่องท้อง ทำให้รู้สึกแน่นช่องท้อง รับประทานอาหารได้น้อยลง
ดังนั้นจึงควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กโดยแบ่งเป็นวันละ 5-6 มื้อ แทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่วันละ 2-3 ครั้ง
จะช่วยให้ไม่รู้สึกแน่นท้องหลังรับประทานอาหารได้
ในน้ำยา CAPD จะมีกลูโคสซึ่งจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกหิวเบื่ออาหาร
ผู้ป่วยบางคนยังขาดธาตุสังกะสี ทำให้ความรู้สึกในรับรสเปลี่ยนแปลง
รับประทานอาหารไม่อร่อย ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง
การทำ CAPD อาจจะเป็นเรื่องน่าเบื่อแต่ถ้ามองในแง่ดี ก็ถือว่าเป็นการฝึกวินัยให้กับตนเอง
ทำให้ฉันมีความรับผิดชอบ มีสติ ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท อาจมีบ้างบางครั้งที่รู้สึกท้อแท้แต่ชีวิตคนเราก็มีทั้งทุกข์และสุข
คงไม่เคยมีใครที่ดำเนินชีวิตแล้วไม่พานพบกับอุปสรรค ปกติคนเรามักมองปัญหาเป็นเรื่องใหญ่กว่าตัวและเป็นวิกฤตเสมอ
แต่ถ้าค่อยๆมองปัญหาแล้วหาทางแก้ไขหรือบรรเทา บางทีเราก็อาจจะพบว่ามันไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด
ฉันจึงพยายามทำให้ตัวเองมีความสุขอยู่เสมอ โดยไม่มัวมองว่าเราป่วยเป็นโรคร้าย
แต่จะมองว่าตัวเองเหมือนคนปกติที่ไม่ได้มีโรคประจำตัว
เพียงแต่เราต้องดูแลสุขภาพให้มากกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง
การที่เราจะใช้ชีวิตให้อยู่กับโรคที่เราเป็นได้อย่างมีความสุขและไม่ท้อแท้นั้น
ต้องประกอบไปด้วยการมองโลกในแง่ดี มีกำลังใจที่ดี และการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี
ผู้ป่วยโรคไตวายอย่างฉัน ในแต่ละวันจะต้องทานยาหลายอย่าง
ซึ่งส่วนมากจะเป็นยาเกี่ยวกับความดัน เพราะความดันโลหิตของฉันจะสูงมาก
ซึ่งการทานยานี้จะไม่ได้ผลมากนักถ้าหากฉันไม่รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และงดอาหารรสจัด
ในเวลาว่างก็จะผ่อนคลายจิตใจด้วยการทำในสิ่งที่ชอบไม่ว่าจะ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ
ช่วยงานบ้านเล็กๆน้อย และออกกำลังกาย
สำหรับการออกกำลังกายนั้นจะออกกำลังกายอย่างหนักหรือหักโหมไม่ได้
ดังนั้นวิธีออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย CAPD คือการเดิน วิ่งเยาะๆ ปลูกต้นไม้ หรือแม้แต่การทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆ
ถึงจะไม่ได้ใช้กำลังมากนักแต่ก็เรียกเหงื่อได้พอสมควร
นอกจากนั้น สิ่งที่ทำให้ฉันไม่ทุกข์ใจจากโรคที่ฉันเป็นคือ การคิดในแง่บวกอยู่เสมอ
ฉันจะให้กำลังใจตัวเองบ่อยๆ คิดว่าฉันยังมีสิ่งที่ยังไม่ได้ทำอีกมากมาย ยังมีคนที่รอฉันอยู่
และที่สำคัญฉันคิดว่าฉันจะต้องหายดีสักวัน แค่นี้ก็ทำให้ฉันฮึดสู้และยิ้มได้ในทุกๆวัน
มีหลายครั้งที่ฉันประสบกับปัญหาที่เกือบจะเอาชีวิตไม่รอด
ฉันเคยความดันโลหิตสูงมากปวดหัวมากแทบทนไม่ไหว เส้นเลือดฝอยในตาแตก ซึ่งทำให้ฉันมองไม่เห็น
ฉันเข้าใจคนตาบอดทันทีเลยว่ามันลำบากแค่ไหนกับการใช้ชีวิตโดยไม่สามารถมองเห็นอะไรเลย
ตอนแรกก็ตกใจมากเพราะไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน แต่พอรู้สาเหตุ ฉันก็ไปพบแพทย์
และได้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 1 สัปดาห์
พอกลับมารักษาตัวอยู่ที่บ้าน ทานยาให้ตรงเวลา ทานอาหารที่มีประโยชน์และรสไม่จัด
ล้างไตตรงเวลา และพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่านไปสามสัปดาห์ตาก็เริ่มมองเห็น
มีอีกครั้งหนึ่งที่ฉันจำได้ไม่มีวันลืมคือน้ำท่วมปอดทำให้ฉันต้องเข้ารักษาตัวที่ห้องไอซียู
วันนั้นเป็นวันที่ฉันได้รับความทุกข์ทรมานมากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแต่อาการก็ไม่ดีขึ้น
ใครๆก็คิดว่าฉันคงไม่รอด พ่อกับแม่ก็ยังคอยให้กำลังใจฉันอยู่เสมอ
แม้ว่าท่านทั้งสองรวมทั้งฉันจะรู้ดีว่า ฉันคงจะไม่รอดแน่ๆ
แต่อีกไม่กี่วันต่อมาฉันกลับรอดราวกับมีปาฏิหาริย์ ทุกคนในครอบครัวดีใจมากรวมทั้งตัวฉันเองด้วย
เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้ฉันได้คิดว่า คนเราอยู่ได้ด้วยกำลังใจ ด้วยพลัง
หากวันใดที่กำลังใจของเรายังมีอยู่ พลังที่จะสู้ยังมีอยู่ โรคร้ายใดๆก็ไม่อาจพรากเอาชีวิตเราไปได้ง่ายๆ
ชีวิตของคนเราก็เหมือนกับตะเกียงที่ประกอบด้วยไส้และน้ำมัน ไส้คืออายุขัย หมดแล้วต่ออีกไม่ได้ ส่วนน้ำมันคือกำลังใจ หมดเมื่อไหร่ก็เติมได้เสมอ หากเราท้อแท้ ก็จงเหลียวมองไปรอบๆตัวเราเพราะทุกคนที่อยู่รอบข้างยังเป็นกำลังใจให้เราอยู่เสมอ อย่าท้อ อย่าอ่อนแอ สู้เท่านั้นที่จะทำให้เราหยัดยืนอยู่บนโลกนี้ได้โดยไม่ต้องกลัวโรคที่เราเป็นจะมาทำร้ายเรา เพราะถ้าเราดูแลตัวเองเป็น ใช้ชีวิตเป็น เราก็จะมีชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุข
ความรักและกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้างเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ป่วย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือกำลังใจจากตัวของผู้ป่วยเอง
เพราะกำลังใจจากตัวเองเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีแรงที่จะสู้กับโรคร้าย และมีพลังที่จะดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความหวังและมีความสุข
ดังคำกล่าวที่ว่า ร้อยล้านกำลังใจจากผู้อื่น ก็ไม่เท่าหนึ่งกำลังใจจากตัวเอง ไม่ว่าเราจะโชคร้ายขนาดไหน
แค่เพียงเรามีสติและอยู่กับมันให้ได้ โดยอาศัยกำลังใจจากตัวเองและคนรอบข้าง
เพียงแค่นี้เราก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตลอดไป
ขอบคุณทุกคนที่อ่านจนจบค่ะ