อุบัติเหตุรังสีรั่วไหลครั้งที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในไทย
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น เมื่อปี 2011
ที่ตามมาด้วยเหตุการณ์รั่วไหลของสาร 'กัมมันตรังสี' จากโรงไฟฟ้า
ก็ทำให้หลายคนรู้สึกหวาดกลัวภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับเรา
แม้ประเทศไทย(รวมถึงประเทศไกล้เคียงของเรา)
จะไม่มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตั้งอยู่ให้ต้องระแวง
แต่เชื่อหรือไม่ ว่าครั้งหนึ่งประเทศไทยของเรา
ก็เคยเกิดเหตุการณ์ทางรังสี จนมีผู้เสียชีวิตมาแล้วเหมือนกัน
เหตุการณ์อุบัติเหตุทางรังสี 'ครั้งแรก' ของไทย
เกิดขึ้นช่วงเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ ปี 2543
ที่จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากที่มีคนเก็บของเก่าได้นำชิ้นส่วน
ของเครื่องมือทางการแพทย์ไปตัดแบ่งเพื่อขายเป็นเศษโลหะ
จนทำให้เกิดการกระจายของรังสีและทำให้มีผู้เสียชีวิต
ชิ้นส่วนดังกล่าว คือ 'ส่วนหัวเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60'
ซึ่งเป็นอุปกรณ์เฉพาะทางที่ใช้ในทางการแพทย์ ใช้สำหรับฉายรังสี
เพื่อรักษาโรคมะเร็ง โดยโคบอลต์-60 ที่ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีนั้น
จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6 ปี ก่อนที่รังสีจะอ่อนลงจนต้องเปลี่ยนใหม่
เรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นเพราะขั้นตอนการเปลี่ยนนี้ไม่เป็นไปตามขั้นตอนเดิม
และทำให้ต้องถอดอุปกรณ์ส่วนหัวเครื่องฉายออก
(พร้อมกับโคบอลต์-60ที่อยู่ข้างใน)และย้ายไปเก็บไว้ที่อื่น
แต่ในที่สุดอุปกรณ์ขนาดใหญ่ชิ้นดังกล่าว
ก็ตกไปอยู่ในมือของคนขายของเก่าที่ไม่รู้ว่ากำลังครอบครองของที่เป็นอันตราย
หลังจากมีการตัดแบ่งชิ้นส่วนเพื่อแยกโลหะขาย คนงานกับเจ้าของร้าน
ก็ได้รับรังสีในระดับเข้มข้นจนล้มป่วยลงด้วยอาการเบื่ออาหาร
ผมร่วงและมือเป็นแผลพุพอง ก่อนจะเข้ารับการรักษา
และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย
และมีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 1,872 คน
ถือเป็นเหตุการณ์ทางรังสีครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
และเป็นเหตุการณ์การรั่วไหลของรังสีที่รุนแรงที่สุดในไทยอีกด้วย