ปั้นน้ำเป็นตัว
จากสุภาษิตที่ว่า "ปั้นน้ำเป็นตัว"
เรื่องเล่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เรือกลไฟจากประเทศสิงคโปร์ ได้บรรทุก “น้ำแข็ง” เข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อนำมาถวายให้แก่พระองค์ ซึ่งในขณะนั้น ถือเป็นสิ่งแปลก และไม่อยากเชื่อว่าน้ำจะแข็งและกลายมาเป็นรูปร่างได้
จึงได้เกิดสุภาษิตที่ว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว” ขึ้น
ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นำไอศกรีมมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในคนไทยมากขึ้น หลังเสด็จประพาสประเทศอินเดีย ชวา และสิงคโปร์ การทำไอศกรีมจึงได้ริเริ่มขึ้น
โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “ความทรงจำหลังจากเสด็จประพาสสิงคโปร์ พ.ศ. 2414” ของรัชกาลที่ 5 ความว่า
“ไอศกรีมเป็นของวิเศษในเวลานั้น เพราะเพิ่งได้เครื่องทำน้ำแข็งอย่างเล็กๆ ที่เขาทำกันตามเมืองนอกเข้ามาถึงเมืองไทย บางวันทำน้ำก็แข็ง บางวันก็ไม่แข็ง มีไอศกรีมตั้งเป็น
เครื่องเสวยแค่บางวัน จึงเห็นเป็นของวิเศษ”
ด้วยความที่ทำยากและหารับประทานยากนั่นเอง ที่ทำให้ไอศกรีมเป็นของเสวยสำหรับเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น
ต่อมา ไอศกรีมได้แพร่หลายในหมู่ประชาชน เมื่อมีการตั้งโรงงานผลิตน้ำแข็งขึ้นในเมืองไทย โดยไอศกรีมสมัยนั้นผลิตมาจากนมและครีม (สูตรของฝรั่ง) เป็นหลัก จึงทำให้มีราคาสูง และมีขายเฉพาะในภัตตาคารแถบที่ราชวงศ์อาศัยอยู่เท่านั้น จนประมาณปี พ.ศ. 2446 ชาวบ้านได้ลิ้มลองไอศกรีมสูตรบ้านๆ (แต่อร่อย) ครั้งแรก เป็นน้ำเชื่อมปั่นจนกลายเป็นเกร็ดหิมะ ต่อมาจึงได้พัฒนาเป็น “น้ำแข็งไส”หรือ “ไอติมกด”เป็นเกล็ดน้ำแข็งราดด้วยน้ำเชื่อมรสต่างๆ อัดใส่พิมพ์เสียบไม้
ไอศกรีมหลอด หรือไอศกรีมแท่ง ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นการนำน้ำหวานหลายรส (ปัจจุบันใช้น้ำอัดลม) ใส่พิมพ์โลหะทรงกระบอก และเขย่าในถังน้ำแข็งใส่เกลือ เมื่อเริ่มแข็งจึงเสียบไม้แล้วรับประทาน นอกจากนั้นไอติมหลอดยังมีแบบใส่กะทิด้วย (แต่ไม่เข้มข้น) ใส่เครื่องต่างๆ อาทิ ถั่วเขียว ถั่วดำ เผือด ลอดช่อง มันต้ม แล้วแต่สูตรของแต่ละบ้านพัฒนาจนกลายมาเป็น “ไอศกรีมกะทิ”ที่ใช้กะทิสดแทนนมหรือครีม เวลากินตักเป็นลูกๆ เป็นที่มาของ “ไอติมตัก”จะตักใส่ถ้วย โคน ขนมปัง เหมือนในปัจจุบัน
ต่อมาบริษัทป็อป ผู้ผลิตไอศกรีมรายแรกของเมืองไทย ซื้อเครื่องทำไอศกรีมเข้ามา ใช้สูตรของต่างประเทศ (ใส่นมและใส่ครีม) นอกจากนั้นบริษัทป็อปยังเป็นเจ้าแรกที่ขายไอศกรีมบนรถสามล้อ โดยคนขายจะบีบแตรเพื่อเป็นการเรียกลูกค้า
น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของรถไอศกรีมที่เราเห็นในปัจจุบันนั่นเอง