เกาะที่มีขนาดเล็กที่สุดที่ตั้งอยู่ในเขตน่านน้ำทะเลของประเทศไทย
เกาะโลซิน (Ko Losin)
เป็นเกาะหินปูนขนาดเล็กที่ไม่มีคนอาศัย ตั้งอยู่ทางตอนใต้
ของทะเลอ่าวไทย เกาะนี้อยู่ในเขตการปกครองของตำบลบ้านน้ำบ่อ
อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี อยู่ห่างจากชายฝั่งหาดวาสุกรี
ในเขตอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร
ตัวเกาะโลซินมีขนาดที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาไม่เกิน 100 ตารางเมตร
สภาพส่วนใหญ่เป็นหินล้วนไม่มีต้นไม้ใบหญ้า รอบเกาะน้ำตื้น
หากจะขึ้นเกาะต้องนำเรือเล็กเข้าไป บนเกาะมีประภาคาร
ที่ส่งไฟสัญญาณเตือนอยู่บนยอด และตัวประภาคารตั้งอยู่บนหินโผล่น้ำ
ที่มีขนาดประมาณ 10 เมตร บริเวณรอบเกาะเป็นแหล่งปะการังที่อุดมสมบูรณ์
กินพื้นที่ยาวหนึ่งกิโลเมตร มีพืชใต้น้ำและฝูงปลานานาชนิด
โดยเฉพาะฉลามวาฬและกระเบนราหู และเนื่องจากเกาะนี้
ตั้งอยู่ค่อนข้างห่างไกล พื้นที่รอบๆเกาะจึงถือเป็นจุดดำน้ำที่ดี
และมีสภาพแวดล้อมทางทะเลที่สวยงามสมบูรณ์มาก
แต่เดิมที่นี่เคยเป็นดินแดนพิพาทระหว่างไทยกับมาเลเซีย
โดยมาเลเซียได้ทำการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะกระในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ด้วยการอ้างการแบ่งเขตไหล่ทวีป อันเป็นพื้นที่ทับซ้อน
กับพื้นที่สัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติ ทำให้ไทยเสียเปรียบ
แต่เวลาต่อมาคณะเจรจาไปพบเกาะหินกลางทะเล นั่นคือ "เกาะโลซิน"
จึงได้ใช้อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1958
ทำให้โลซินมีสถานะเป็นเกาะนับตั้งแต่นั้น ไทยจึงสามารถ
ประกาศสิทธิเขตเศรษฐกิจจำเพาะจากแนวน้ำลดบริเวณชายฝั่ง
ออกไปได้เป็นระยะ 200 ไมล์ทะเล ซึ่งครอบคลุมแหล่งก๊าซด้วย
เกาะโลซินจึงถือเป็นเกาะที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก
เกาะโลซิน ถือเป็นเกาะขนาดเล็กที่สุดที่อยู่ในอาณาเขตทะเลไทย
และถือเป็นหนึ่งในเกาะของไทยที่อยู่ห่างจากชายฝั่งมากที่สุดด้วย